รีวิวหนังสือ - The Great Remake สู่โลกใบใหม่


ชื่อหนังสือ - THE GREAT REMAKE สู่โลกใหม่ 
ผู้แต่ง - สันติธาร เสถียรไทย 
ปีที่พิมพ์ - 2654
สำนักพิมพ์ - สำนักพิมพ์มติชน
จำนวนหน้า - 327 หน้า 

         “The Great Remake สู่โลกใบใหม่” เป็นหนังสือที่อ่านในช่วงแรก ๆ แล้วรู้สึกเหมือนเป็นหนังสือที่เกี่ยวกับทฤษฏีด้านเศรษฐศาสตร์ที่เขียนขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 แต่เมื่อได้อ่านไปเรื่อย ๆ ก็จะเริ่มเห็นแนวคิดและมุมมองด้านการพัฒนาเศรษฐกิจที่ควรจะเกิดขึ้นหลังจากที่ผ่านพ้นช่วยการระบาดของโรคดังกล่าว เนื่องจากผู้เขียนเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มหภาคและการเงิน ซึ่งบางประเด็นนั้นเกิดขึ้นแล้ว บางประเด็นนั้นไม่เป็นไปตามที่หนังสือได้เขียนไว้ เนื่องจากหนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์ในปี 2564 ซึ่งขณะนั้นยังคงอยู่ในช่วงของการแพร่ระบาด รัฐบาลกำลังดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายประเด็นที่ในหนังสือได้กล่าวไว้นั้นยังไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย และเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นเป็น Next New Normal  ซึ่งเนื้อหาภายในหนังสือแบ่งออกเป็น 4 บทด้วยกัน ประกอบด้วย Rethink, Recovery, Reimagine และ Remake และมีบททิ้งท้ายหลังจากจบทั้ง 4 บทอีกด้วย

          บทที่ 1 “Rethink อ่านอนาคตที่เร่งเข้ามา” เป็นบทที่ชักชวนให้ผู้อ่านเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันและมองอนาคตหลังจากสถานการณ์ COVID-19 โดยผู้เขียนเรียกว่าคลื่น 6D ประกอบด้วย Debt (สภาวะหนี้ท่วม), Divided (ความเหลื่อมล้ำที่สูงขึ้น), Deglobalisation (การเสื่อมถอยของโลกาภิวัฒน์), Divergence (การเปลี่ยนขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจระหว่างเอเชียกับตะวันตก), Digitalisation (การเข้าสู่โลกดิจิตัล), Degradation of Environment (ความกังวลเรื่องสิ่งแวดล้อม) มากไปกว่านั้น ผู้เขียนได้เน้นย้ำเรื่องของ ดิจิตัล ที่จะเข้ามามีอิทธิพลต่อชีวิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และด้วยปัจจัยของ COVID-19 เป็นเหมือนตัวเร่งปฏิกิริยาในการขับเคลื่อนให้คนได้ก้าวเข้ามาใช้เทคโนโลยีดิจิตัลมากขึ้น รวมถึงการเปลี่ยนไปของโลกการเงิน สู่ระบบดิจิตัลและ DLT หรือ Distributed Ledger Technology จำพวก Blockghain เป็นต้น แต่ปัจจัยที่ดิจิตัลจะมีบทบาทจนถึงขั้นปฏิวัติหรือปฏิรูปโลกของการเงินในประเทศไทยนั้น ขึ้นอยู่กับรัฐที่จะต้องทุ่มงบประมาณเพื่อลงทุนการวิจัยและพัฒนา ทั้งพัฒนาคน ด้วย Reskill / Upskill และพัฒนาระบบเทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ ด้วย มิเช่นนั้นแล้วจะเป็นปัญหาในเรื่องของความเหลื่อมล้ำที่คนบางสังคมอาจจะใช้เทคโนโลยีดิจิตัลได้อย่างแพร่หลาย แต่ในบางสังคมนั้นกลับมีข้อจำกัดและทำให้ตามเทคโนโลยีไม่ทัน เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยควรใช้โอกาสนี้ในการพัฒนา DEE หรือ Digital Experience Economy เป็นการขาย Soft Power ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อย่างมหาศาลอีกด้วย

          บทที่ 2 “Recovery รับมือวิกฤติแห่งยุค” ผู้เขียนพูดถึงเรื่องหลัก 3 อยู่ คือ อยู่รอด, อยู่เป็น และ อยู่ยืน เป็นขั้นตอนในการรับมือวิกฤติการแพร่ระบาดของ COVID-19 นั่นก็คือ Lockdown, New Abnormal และสุดท้ายคือ New Normal แต่ก็ยังคงต้องรับมือกับ After shock ที่ไวรัสจะกลายพันธุ์อยู่เรื่อย ๆ จนกระทั่งกลายเป็นไวรัสประจำถิ่นคล้ายไข้หวัดใหญ่ ซึ่งก็เป็นจริงดังตามที่ผู้เขียนระบุไว้ และมากไปกว่านั้น การรับมือด้วย “บาซูก้าการคลัง” เปรียบเสมือนการอัดเงินสุดขีดแล้วยิ่งให้ตรงเป้าด้วยแนวคิด 5T ซึ่งผู้เขียนได้เน้นย้ำว่าเป็นแนวทางที่ใช้ชั่วคราวเท่านั้น

          บทที่ 3 “Reimagine คิดใหม่ ยุทธศาสตร์อนาคต” ในบทนี้จะเป็นบทที่ฉุกคิดให้ผู้อ่านเห็นโอกาสจากสิ่งที่มีอยู่ในพื้นที่ประเทศไทยก่อให้เกิดรายได้ ด้วย 5C คือ Care (สุขภาพ), Culinary (ครัวไทย), Culture (วัฒนธรรม), Creativity (สร้างสรรค์) และ Corridor (ภูมิศาสตร์) และสร้างความตระหนักว่าการ Disruption นั้นไม่ได้เกิดจากคู่แข่งภายนอกเสมอไป แต่เกิดจากภายในนั่นเอง คือ ลูกค้า หรือ คนในองค์กร ที่เราไม่ได้รับรู้หรือรับฟังจนทำให้เกิดการ disrupt ในที่สุด แต่ทั้งนี้ทั้งในโลกที่เปลี่ยนแปลงสูง ผู้ที่ถูก disrupt ไม่ได้เป็นผู้แพ้เสมอไป และผู้ที่เป็น disruptor ก็ไม่ได้เป็นผู้ชนะเสมอไปเช่นกัน และได้ถอดบทเรียนจากกรณีการบริหารจัดการจากประเทศพัฒนาหรือบริษัทต่างๆ ออกมาเป็น Platform ABCD สำหรับข้าพเจ้าเแล้วเป็นเรื่องที่น่าสนใจมากสำหรับกรณีประเทศสิงคโปร์ที่ดึงดูดหัวกะทิจากทั่วโลกมาทำงานในประเทศเพื่อพัฒนาอย่างรุกคืบ 

          บทที่ 4 “Remake สร้างคนเพื่ออนาคต” อันเป็นเรื่องของชื่อหนังสือเล่มนี้ที่ใช้คำว่า Remake แทนคำว่า Reset หรือ Remaster คือพัฒนามนุษย์ตามโครงสร้างเดิมที่มีอยู่ด้วยการ “ปรับมุมมอง” ให้มีทักษะแห่งอนาคต ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่ายาก แต่ผู้เขียนใช้วิธีการรวมกลุ่มทักษะให้มองสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น ประกอบด้วย ทักษะที่ทำให้เราอยู่ร่วมกับเทคโนโลยี, ทักษะที่ทำให้เทคโนโลยีแทนเราไม่ได้, ทักษะที่ทำให้เราอยู่กับความไม่แน่นอนด้วยการเรียนรู้ตลอดชีวิตและยืดหยุ่นทางความคิด และ ทักษะที่ทำให้เราพาคนอื่นรอดไปด้วยกัน กล่าวคือ ความเป็นผู้นำ การสื่อสาร และ การเข้าใจผู้อื่น ผู้เขียนได้เปรียบความรู้ในยุคนี้ดั่งนมที่หมดอายุเร็ว และเปรียบความรู้ควบคู่กับทักษะเป็นดั่งไวน์ ต้องใช้เวลาพัฒนาและก่อให้เกิดมูลค่าสูง เช่นเดียวกันกับ Growth Mindset ที่เปรียบเป็นกล้ามเนื้อ ที่สามารถพัฒนาได้และต้องพัฒนาอยู่บ่อย ๆ ให้แข็งแรง 
และสำหรับบทส่งท้ายของผู้เขียนนั้น คิดรูปแบบ 5 ประเด็นที่ต้องคำนึงถึงในการทำยุทธศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อตอบสนอง “หลัก 3 อยู่” ทั้งระดับตัวบุคคล องค์กร สังคมและประเทศ โดยใช้ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ มาเปรียบเทียบกับประเด็นต่าง ๆ เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจและจดจำได้ง่ายขึ้น เป็นการเพิ่มเติมและกล่าวสรุปเนื้อหาที่กล่าวมาในบทก่อนหน้านี้ให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น

         สำหรับหนังสือเล่มนี้เป็นการเขียนอนาคตจากประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจที่สังเคราะห์จากความรู้และประสบการณ์ควบคู่กับความเข้าใจสถานการณ์ในปัจจุบัน และสื่อสารให้ผู้อ่านได้ปรับเปลี่ยนแนวมุมมองให้เป็น Growth Mindset ที่ Lifelong Learning โดยใช้สิ่งที่มีอยู่ในตัวเราหรือรอบตัวเรา  ก็คือหลัก 5C แล้วสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์หรือมูลค่า ท่ามกลางโลกดิจิตัลที่เข้ามามีบทบาทที่สำคัญในชีวิตในทุกวงการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตามชื่อหนังสือคือ The Great Remake คือการปรับมุมมองที่ยิ่งใหญ่เพื่อเราสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในโลกใบใหม่ที่ผันผวนสูง เพราะถ้าหากไม่ remake เราก็อาจจะถูก reset ทิ้งออกจากองค์กร หรือแนวคิด remaster ที่มองข้ามสิ่งที่มีอยู่ในความเป็นไทยของเราไป 

          ถ้าหากจะกล่าวถึงในด้านการศึกษา หนังสือเล่มนี้ฉุกคิดการศึกษาในอนาคตที่จะเปลี่ยนไป เนื่องจากความรู้เปรียบเป็นดั่งนมที่หมดอายุเร็ว การจัดการศึกษาให้กับนักเรียนในอนาคตนั้นต้องควบคู่กับการลงมือปฏิบัติเพื่อให้เกิดทักษะจริง ให้เป็น Work-Study และอาจจะเป็นความรู้ใหม่ที่เกิดขึ้นโดยผู้เรียนเองก็เป็นได้ มากไปกว่านั้น การจัดการศึกษาโดยใช้ระบบดิจิตัลที่ผู้เรียนสามารถเรียนที่ไหนก็ได้ เรียนเมื่อไหร่ก็ได้ และผู้เรียนเป็นใครก็ได้ ไม่ได้จำกัดแค่ผู้เรียนภายในโรงเรียนเท่านั้น ซึ่งอาจจะเป็นช่องทางที่สร้างมูลค่าและเป็นรายได้ให้กับโรงเรียนในอนาคตอีกทางหนึ่งด้วย สุดท้ายในด้านการพัฒนาครูและบุคลากรด้วย Reskill / Upskill และใช้ Personal Learning Account หรือ Credit Bank ให้เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาความดีความชอบ ก็จะแรงที่จะกระตุ้นให้ครูผู้สอนเป็นผู้ที่เรียนรู้ตลอดชีวิต ให้เป็นผู้ที่ทันกับยุคสมัยและการเปลี่ยนแปลงไปของผู้เรียน การศึกษา และ โลกอนาคตต่อไป 

ครูโจโจ้

***************************************
🧡 ฝากกด subscribe ที่ด้านบนเพื่อติดตาม
Blogger krujojotalk.com ด้วยนะครับ
และสามารถสนับสนุนด้วยการบริจากผ่านทาง
https://www.krujojotalk.com/p/support-me.html

***************************************
ติดต่อ & ติดตามช่องทางอื่นๆ ได้ที่ 
✍สนใจเรียนภาษาอังกฤษ online ได้ที่ 
https://www.facebook.com/engkrujojo
 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Sport Day หรือ Sports Day?

เด็กปีหนึ่งใช้ "Freshman" หรือ "Freshmen" ???

Organizing : Topic, Supporting และ Concluding Sentences