รีวิวหนังสือ - สร้างเด็กภูมิดีด้วย EF


ชื่อหนังสือ
สร้างเด็กภูมิดีด้วย EF

ชื่อผู้เขียนหนังสือ
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์

สำนักพิมพ์
แพรวเพื่อนเด็ก

เนื้อหา 154 หน้า
ราคา 195 บาท

จากบทความรีวิวหนังสือก่อนหน้านี้ รีวิวหนังสือ : เลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ EF ซึ่ง "สร้างเด็กภูมิดีด้วย EF" เล่มนี้เปรียบเสมือนภาคต่อเพื่อขยายรายละเอียดของ EF โดยคุณหมอประเสริฐนั่นเอง 

ความคิดเห็นหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ

ครูโจโจ้รู้สึกว่าเล่มนี้อ่านยากกว่าเล่มก่อนหน้านี้นิดหน่อยนะครับ เนื่องจากคุณหมอเพิ่มความเป็นวิชาการมากขึ้น จึงมีคำศัพท์ทางชีววิทยา อย่างเช่นสมองในส่วนต่าง ๆ มีชื่อว่าอะไร มีคุณสมบัติอะไร เป็นต้น ดังนั้นครูโจโจ้จึงขอหยิบยกบางประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงดู การจัดการเรียนการสอน หรือ กิจกรรมเสริมประสบการณ์สำหรับเด็กเพื่อมาเล่าสู่กันฟังนะครับ 

ในเล่มนี้คุณหมอแบ่งหมวดหมู่ออกเป็น 3 Parts ประกอบด้วย 

  • Part 1 ใด ๆ ล้วน EF
  • Part 2 ทำไมต้อง EF
  • Part 3 การแก้ไข EF 

ซึ่งในแต่ละ Part ก็จะเป็นเนื้อหาบทย่อย ๆ ไปอีก ทำให้ง่ายสำหรับผู้อ่านว่าต้องการกลับไปอ่านซ้ำในประเด็นไหน ในหมวดหมู่ไหน 

ใน Part 1 ใด ๆ ล้วน EF คุณหมอขยายความเข้าใจในเรื่องของ EF จากหนังสือเล่มก่อนหน้านี้ที่กระจ่างขึ้นในและลงลึกมากขึ้น โดยอ้างอิงจากแหล่งศึกษาต่าง ๆ ที่คุณหมอตกตะกอนแล้วเขียนสรุปนิยมลงในหนังสือเล่มนี้ คุณหมอประเสริฐยืนยันว่า EF นั้นมีอยู่จริงแน่นอน เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แฟชั่นชั่วคราว 

มากไปกว่านั้น ในบทนี้หยิบยกกรณีตัวอย่างในการทดสอบ EF ของเด็ก ที่ช่วยให้ผู้อ่านเห็นภาพว่า EF คืออะไรกันแน่ และคุณหมอย้ำอีกว่า EF เป็นเรื่องของสมอง ไม่ใช่เรื่องของจิตใจ ประกอบกับกระตุ้นให้ผู้อ่านเรียนรู้ EF เพื่อสร้างสมองที่ดีสำหรับเด็กอีกด้วย 

ต่อมาเป็นเรื่องของการเล่น ซึ่งสามารถช่วยให้เด็กมีสมองที่ดีที่สุดได้ เพียงเล่นซ่อนหาหรือซ่อนของก็ช่วยพัฒนากระบวนการทางสมองของเด็กและ EF แล้ว การเล่นเพื่อจำแนกหรือจัดหมวดหมู่ของต่าง ๆ การเล่นบทบาทสมมติเพื่อพัฒนาทักษะทางภาษา เหล่านี้ช่วยให้ผู้อ่านต่อยอด เกิดไอเดียในการสร้างเกมหรือกิจกรรมให้เด็กได้เล่นและเกิดประโยชน์ทางด้านพัฒนาการ EF 

ซึ่งปัญหาการศึกษาในปัจจุบันพบว่าละเลยการเล่นไปพอสมควร เน้นท่องจำ หรือ ติวสอบมากเกินไป และคุณหมอได้แทรกด้วยว่า การทอดทิ้งและการทำร้าย หรือเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้พัฒนาการทางสมองล่าช้า ทำให้เด็กมี EF น้อยเกินไปอีกด้วย

ในหนังสือบอกว่าการฝึกเด็กให้เด็กมีเป้าหมาย ควรเรียงจากยากไปง่าย เพื่อให้มี delayed gratification ด้วยการทำงานบ้านหรือการบ้านควรมาก่อนการเล่นเสมอ (ซึ่งทำให้ครูโจโจ้นึกถึงหนังสือพัฒนาตนเองสำหรับผู้ใหญ่ คือ Eat That Frog ของ Brian Tracy ที่ก็สอนให้เราทำงานที่ยากให้เสร็จก่อนในลักษณะทำนองนี้) ครูโจโจ้ขอเสริมว่าให้ทำงานบ้านเป็นอันดับแรก จะได้มีมิติสัมพันธ์กับครอบครัว ก่อนที่จะนั่งทำการบ้าน แล้วค่อยเล่นเพื่อเป็นรางวัลตัวเอง ครูโจโจ้มองว่างานบ้านอาจจะไม่ใช่กวาดบ้านล้างจานเสมอไป เช่น ช่วยกันเตรียมอาหาร ทำกับข้าว สำหรับเด็กแค่เล็ก ๆ น้อย ๆ ให้เขามีส่วนร่วมก็เพียงพอแล้ว หรือเรียกอีกอย่างว่าทำกิจกรรมครอบครัวจะเห็นภาพชัดขึ้น เนื่องจากครูโจโจ้ติดตามชีวิตครอบครัวชาวอเมริกันครอบครัวหนึ่ง ช่วงเทศกาล Halloween พ่อแม่และลูก ๆ ในวัยอนุบาลและประถมจะช่วยกันช้อนใส้ฟักทองออก เพื่อทำ Jack-o'-lantern หรือที่ชัดเจนมาก ๆ เกือบทุกครอบครัวฟากตะวันตกคือ ช่วยกันตกแต่งต้นคริสมาสต์ และถ้าเป็นแบบไทย ๆ ก็อย่างเช่น ทำกระทงร่วมกัน ทำขนมเทียน เป็นต้น แต่กิจกรรมครอบครัวทำนองนี้ได้ขาดหายไปในยุคปัจจุบัน จริงอยู่ที่เราจะย้อนกลับไปนั่งทำกระทง หรือ ห่อขนมเทียน แบบสมัยก่อนคงจะยากสำหรับหลาย ๆ ครอบครัว แต่ไม่อยากให้ละเลย อยากให้คุณพ่อคุณแม่เห็นความสำคัญของการจัดกิจกรรมครอบครัวที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง เริ่มต้นตั้งแต่เขายังเด็ก ให้เขาภารกิจเขาอย่างการช่วยงานบ้าน อย่าโยนทีวีหรือโทรศัพท์มือถือจนเขาขาดความสัมพันธ์กับคนในครอบครัวแล้วแม่ก็ทำให้อยู่คนเดียว เพราะไม่อยากเห็นคุณแม่ถ่ายคลิปด่าลูกที่มัวแต่เล่นเกมไม่ช่วยงานบ้านแล้วก็ทะเลาะกันให้สาธารณะได้เห็น หดหู่ครับ และไม่ได้ช่วยแก้ไขอะไรให้ดีขึ้นเลย (ขออภัย แสดงความคิดเห็นส่วนตัวออกนอกเรื่องไปหน่อย) 

กลับมาที่หนังสือครับ ใน Part 2 ทำไมต้อง EF ในบทนี้โดยรวมแล้วจะเกี่ยวข้องกับประเด็นการศึกษาที่หลายสิ่งหลายอย่างนั้นทำให้ EF หยุดชะงัก การลงโทษและความเครียด ความเหลื่อมล้ำของสังคม สลับกับแนวคิดทฤษฏีและการจัดการพัฒนา EF อย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เพื่อการศึกษาแห่งอนาคต

ครูโจโจ้ชอบบทหนึ่งที่ชื่อว่า Hill, Skill and Will ที่กระชับและเข้าใจง่ายสำหรับนิยาม EF ให้ทุกท่านนึกถึงการเล่นปีนสูงของเด็กที่คุณหมอยกตัวอย่างในหนังสือ เลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ EF เล่มก่อนหน้านี้นะครับ เพราะ เด็กจะตั้งเป้าหมายที่ยอดเขาหรือ Hill และต้องใช้ Skill หรือทักษะในการปีนขึ้นไป ด้วยความมุ่งมั่นหรือ Will ไม่วอกแวกจนไปถึงเป้าหมาย แต่ในเล่มนี้คุณหมอเน้นย้ำให้เพิ่มเติมในเรื่องของทักษะทางสังคม ชุมชน และ วัฒนธรรมด้วย 

และ Part 3  การแก้ไข EF ชัดเจนครับว่าบทนี้ก็เป็นการนำเสนอแนวทางการแก้ไข EF ในบริบทต่าง ๆ ไม่ใช่แค่เด็กเล็กเพียงอย่างเดียว วัยรุ่นก็มีเช่นกัน และ การรักษาผู้ป่วยที่ EF บกพร่อง ซึ่งก็เป็นแนวทางพร้อม ๆ กับให้ความหวังของผู้ปกครองและครูที่ยังคงสามารถแก้ไข EF ในวัยรุ่นได้อยู่ ไม่ได้หมายความว่าพอพ้นจากช่วงอายุ 3 - 7 ขวบแล้วจะไม่สามารถพัฒนา EF ได้เลย และคุณหมอได้ทิ้งท้ายบทสรุป EF ในมุมมองจิตเวชศาสตร์อีกด้วย 

ดังนั้นหนังสือเล่มนี้ควรมีควบคู่กับหนังสือ เลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ EF เพื่อขยายความเข้าใจที่ลึกขึ้น รวมถึงแตกประเด็นจากเล่มก่อนให้ละเอียดมากขึ้น เหมาะสำหรับผู้ปกครอง ครูปฐมวัย ครูประถมศึกษา รวมถึงครูมัธยมศึกษาด้วยเช่นกัน มากไปกว่านั้นก็เหมาะสำหรับนักศึกษาที่ต้องการค้นคว้าแหล่งข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่อง EF และ สมองส่วนหน้า และเหมาะสำหรับประชาชนทั่วไปด้วย เนื่องจากเราเองอาจจะเป็นคนที่ยอมแพ้อะไรง่าย ๆ หรือไม่อยากทำอะไรยาก ๆ หรืออาจจะเป็นคนที่ไม่ยืดหยุ่นต่อการปรับแผนหรือเป้าหมาย นั่นอาจจะเป็นเพราะเราพร่อง EF ในวัยเด็ก ๆ ก็ได้ ให้เรารู้ตัวและลองแก้ไขทีละเล็กทีละน้อย ครูโจโจ้ว่าเราก็สามารถพัฒนาตัวของเราให้เป็นคนที่มีศักยภาพมากขึ้นได้นะครับ 

ครูโจโจ้
***************************************
🧡 ฝากกดติดตามได้ที่ด้านบนของ 
Blogger www.krujojotalk.com ด้วยนะครับ
***************************************
ติดต่อ & ติดตามช่องทางอื่นๆ ได้ที่ 
💙Facebook 
💗YouTube 
✍สนใจเรียนภาษาอังกฤษ online ได้ที่ 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Sport Day หรือ Sports Day?

เด็กปีหนึ่งใช้ "Freshman" หรือ "Freshmen" ???

Organizing : Topic, Supporting และ Concluding Sentences