รีวิวหนังสือ - เลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ EF
ชื่อหนังสือ
เลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ EF
ชื่อผู้เขียนหนังสือ
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์
สำนักพิมพ์
แพรวเพื่อนเด็ก
ในปัจจุบันการศึกษาระดับปฐมวัยต่างพูดถึงเรื่องของ EF หรือ Executive Fuctions กันอย่างแพร่หลาย พ่อแม่ผู้ปกครองยุคใหม่ต่างให้ความสนใจในเรื่องการพัฒนา EF ของลูกน้อย ใครที่ได้อ่านมาบ้างก็จะพอเข้าใจว่า EF คือการพัฒนาสมองส่วนหน้าเพื่อทักษะควบคุมอารมณ์ความคิด ซึ่งระยะเวลาที่พัฒนาได้ดีที่สุดคือช่วงวัยอนุบาล จึงนับว่า EF เป็นเทรนด์ที่สำคัญสำหรับการเลี้ยงดูบุตรหลานและการจัดการศึกษาในระดับปฐมวัย ณ ช่วงเวลานี้
หนังสือ "เลี้ยงลูกอย่างไรให้ได้ EF" เล่มนี้ เขียนโดยนายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ จึงเหมาะสำหรับผู้ปกครองและนักการศึกษาที่ควรหามาอ่านเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากคุณหมอได้สรุปเนื้อหาจากบทความทางวิชาการต่าง ๆ มาซอยย่อยเหมือกับเรื่องเล่าเพื่อให้เข้าถึงผู้ปกครองรวมถึงครูและนักการศึกษาด้วยภาษาที่ง่ายขึ้น
รู้จักกับผู้ขียน
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เป็นจิตแพทย์และนักเขียนชื่อดัง โดยเฉพาะพัฒนาการเด็กและวัยรุ่น คุณหมอจบการศึกษาจาก โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จากนั้นศึกษาต่อ ณ คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ จบวุฒิบัตรผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตเวชศาสตร์ โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา อดีตจิตแพทย์ที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จังหวัดเชียงราย
เนื้อหาภายในหนังสือ
ภายในเล่มประกอบด้วย 28 บท ซึ่งบทหนึ่งก็ประมาณ 3 - 4 หน้าโดยเฉลี่ย มีรูปภาพแทรกประกอบในแต่ละเนื้อหา หรือ สรุปใจความสำคัญให้กับผู้อ่าน บางบทนั้นคุณหมอก็ได้ซอยย่อยเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจทีละประเด็น ๆ ไป ซึ่งมีดังต่อไปนี้
- ทำไมเด็กคนหนึ่งถึงไปได้ดีกว่าเด็กอีกคนหนึ่ง
- ความไว้วางใจสร้างตัวตน
- สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าแม่
- กระบวนการสร้างตัวตนของเด็ก
- EF คืออะไร
- เป้าหมายที่หายไป
- การทำงานสร้างเป้าหมาย
- EF กับเป้าหมายระยะยาว
- EF ที่ดีเป็นอย่างไร
- ดูแลตัวเองได้
- เอาตัวรอดได้
- มีอนาคตที่ดี
- EF เกิดขึ้นได้อย่างไร
- การก่อร่าง EF มีเวลาของมัน
- กองบัญชาการชีวิตอยู่ที่สมองส่วนหน้า
- องค์ประกอบของ EF 1: การควบคุมตนเอง
- องค์ประกอบของ EF 2: ความจำใช้งาน
- กำหนดเป้าหมายแล้วปีนให้สูง
- องค์ประกอบของ EF 3: การคิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น
- กระบวนการเรียนรู้สำคัญกว่าความรู้
- ทักษะศตวรรษที่ 21 - ทักษะการเรียนรู้
- ทักษะศตวรรษที่ 21 - ทักษะชีวิต
- ทักษะศตวรรษที่ 21 - ทักษะไอที
- วิชาอนาคต
- กระบวนการเรียนรู้แบบใช้โจทย์ปัญหาเป็นฐาน (PBL: Problem Based Learning)
- การทบทวนหลังปฏิบัติการ (AAR: After Action Review)
- การประชุมครูที่เน้นนักเรียนเป็นศูยน์กลาง (PLC: Professional Learning Community)
- บันได 7 ขั้นจาก EF สู่ทักษะศตวรรษที่ 21
ความคิดเห็นหลังจากอ่านหนังสือเล่มนี้จบ
ภายในหนังสือ แรกเริ่มคุณหมอจะกล่าวถึงความสำคัญของ EF ที่ส่งผลต่อชีวิตคนเราเมื่อเติบใหญ่ขึ้น เทียบนิสัยระหว่างคนที่มีกับคนที่ขาด EF และสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาของวัยรุ่นนั้น อาจจะเกิดจากการขาด EF ที่ดีในวัยเด็กก็เป็นได้
ในหนังสือกล่าวว่า ผู้ปกครองมีเวลาตั้งแต่เด็กอายุ 2 - 7 ขวบ ในการพัฒนารากฐานของ EF ได้ดีที่สุด แต่ก่อนที่จะไปเรื่อง EF ให้เริ่มต้นด้วยการเลี้ยงลูกให้เขามีตัวตน (self) ที่ชัดเจนและแข็งแรงภายในช่วง 3 ขวบปีแรก โดยคุณหมอได้แบ่งเป็น timeline ของการพัฒนาควบคู่กับความสัมพันธ์ของแม่และลูกในช่วงนี้อีกด้วย เนื่องจาก self มีความเกี่ยวพันกับ EF เป็นอย่างมาก และ EF นั้นเองก็เป็นบันไดของทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ในอนาคตของพวกเขาอีกด้วย
ในหนังสือให้คำนิยามของ EF คือ ความสามารถของสมองและจิตใจที่ใช้ในการควบคุมความคิด อารมณ์ และ การกระทำเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย (อ้างอิงจากคำนิยามที่เขียนโดย ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร) โดยคุณหมอให้คำสำคัญ 5 คำคือ สมอง ความคิด อารมณ์ การกระทำ และ เป้าหมาย คุณหมอยังได้กล่าวว่า สมองดี ส่งผลให้สร้าง EF ดี เด็กพิเศษก็สามารถใช้ EF ในการพัฒนาสมองที่ดีได้ ซึ่งคำว่าสมองดีนั้นไม่ได้หมายถึงคนที่เรียนดีเกรด 4
คุณหมอมุ่งเน้นความสำคัญของคำว่า เป้าหมาย เพราะถ้าเป้าหมายหาย EF ก็หาย! บทต่อมาจึงนำเสนอการฝึกให้เด็กกำหนดเป้าหมายด้วยการเล่นหรือการทำงาน เพื่อสร้างพื้นฐาน EF ทั้งเป้าหมายระยะสั้น และ เป้าหมายระยะยาว อย่างเช่น เล่นการเล่นต่อบล็อกไม้ เมื่อเด็กเริ่มเล่นก็จะมีการสร้างเป้าหมายในการต่อบล็อก ถ้าหาว่าบล็อกไม้ที่ต่อพัง เด็กก็จะสร้างเป้าหมายใหม่ เล่นใหม่ แบบนี้วนไป สมองส่วนหน้าก็จะเติบโตและพัฒนา โดยเป้าหมายนั้นมาพร้อมกับการกำหนดเวลาด้วย
EF ที่ดีประกอบด้วย ดูแลตัวเองได้ เอาตัวรอดได้ และ มีอนาตที่ใช้ได้
ดูแลตัวเองได้ เริ่มตั้งแต่ดูแลจัดการตัวเองได้ จากนั้นดูแลรอบข้างกายตัวเองอย่างเช่นเก็บของเล่น ต่อมาก็เป็นการดูแลบ้านเช่น ทำงานบ้านช่วยพ่อแม่ และ สุดท้ายคือออกนอกบ้าน คือการทำตามกติกาของสังคมเป็นต้น
เอาตัวรอดได้ เสริมด้วยการให้เด็กทำอะไรที่ยาก ๆ ซับซ้อนได้ คำสำคัญของบทนี้คือ Delayed Gratification คือ ความรู้สึกอดทนต่อความลำบากก่อนที่จะสบายทีหลัง เช่น การอ่านหนังสือ ทำงานยาก ๆ ให้สำเร็จ หรือ การเล่นที่ท้าทายและใช้เวลา ส่งผลให้เด็กไม่เร็วต่อความรู้สึกทางอารมณ์ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจที่ขาดเหตุผลได้
มีอนาคตที่ดี กลับไปที่เรื่องของเด็กเมื่อมีความสามารถตั้งเป้าหมายเป็น โตขึ้นก็จะใช้ทักษะนั้นเพื่อตั้งเป้าหมายอนาคตของตนเอง เมื่อเห็นอนาคตแล้วก็วางแผน ลงมือทำ มีความยืดหยุ่น คือ สามารถปรับแผนใหม่ได้ผลที่ได้ไม่ว่าจะเป็นอย่างไรก็จะรับผิดชอบต่อการตัดสินใจและกระทำนั้น ไม่โทษใคร ปรับแผนแล้วลงมือทำใหม่
EF เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่สรุปได้จากหนังสือคือ เกิดจากการลงมือทำในสิ่งที่ท้าทายและที่ต้องใช้ความคิดวิเคราะห์ คุณหมอได้พูดถึงการเรียนการสอนแบบ Active Learning และ Problem Based Learning หรือ PBL แต่ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ที่บ้านด้วยการให้ลูก ทำงานบ้าน - เล่นจริง ๆ - ทำการบ้าน ภายในระยะเวลาที่กำหนด แค่นี้ก็เกิด EF แล้ว
ประเด็นต่อมาคุณหมอพูดถึงองค์ประกอบของ EF ซึ่งประกอบด้วย 1.การควบคุมตนเอง 2.ความจำใช้งาน และ 3.การคิดวิเคราะห์อย่างยืดหยุ่น โดยคุณหมอได้ให้ตัวอย่างการเล่นของเด็กที่หลากหลาย โดยเฉพาะ "การปีนสูง" จะเห็นภาพที่สุด คือเด็กจะเจอความท้าทายแล้วตั้งเป้าหมายเพื่อให้ไปถึง จากนั้นก็ลงมือทำคือปีนขึ้นไป แล้ว focus ไม่วอกแวกแม้จะยากขึ้น จนถึงเป้าหมายในที่สุด คุณหมอได้เพิ่มเติมเรื่องของการจัดการศึกษาและกิจกรรมเสริมประสบการณ์ที่ช่วยให้เด็กมีพัฒนาการในองค์ประกอบดังกล่าวอีกด้วย
นอกเหนือจากนั้นคุณหมอนำเสนอทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ประกอบด้วย ทักษะเรียนรู้ ทักษะชีวิต และ ทักษะไอที และปรับแนวคิดการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ของเด็กปฐมวัยสำหรับโรงเรียนและครูผู้สอนด้วย PBL การถามคำถามชวนคิดอย่างไร และ AAR (After Action Review) รวมถึงแนวทางการใช้ PLC (Professional Learning Community) ของโรงเรียนที่ควรเน้นนักเรียนเป็นศูนย์กลาง มีประโยคที่ครูโจโจ้ชอบที่คุณหมอเขียนไว้มาก ๆ นั่นคือ "โรงเรียนสมัยใหม่ควรรับผิดชอบต่อพ่อแม่และชุมชน ผู้อำนวยการ ครูใหญ่ รับผิดรับชอบกับชุมชน มิใช่รับผิดรับชอบต่อเจ้ากระทรวงหรือปลัดกระทรวง" จากนั้นคุณหมอได้สรุปทิ้งท้ายในเรื่องของบันได 7 ขั้นจาก EF สู่ทักษะศวรรษที่ 21 เป็นช่วงเวลาของวัยเด็ก ซึ่งคุณหมอสรุปให้เห็นภาพง่าย ๆ ว่าบันได 7 ขั้นคือ อ่านนิทาน - เล่นด้วยกัน - ทำงานบ้าน ก็จะได้เอง โดยในรายละเอียดต่าง ๆ นั้น ครูโจโจ้แนะนำให้ซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่านจะดีที่สุดครับ
หนังสือเล่มนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ปกครองที่ดูแลบุตรหลานที่กำลังเข้าสู่ในวัยอนุบาล (จริง ๆ แล้วเล่มนี้พูดถึงก่อนวัยอนุบาลเสียด้วยซ้ำ) หลายท่านที่ยังไม่รู้จัก EF แนะนำให้อ่านเล่มนี้ซึ่งให้นิยามที่เข้าใจง่าย มีทฤษฏีการทำงานของสมองประกอบด้วย เพื่อให้เข้าถึงผู้ปกครองทุกคน และเหมาะสำหรับครูระดับปฐมวัย ผู้บริหารโรงเรียนอนุบาล เพื่อที่จัดกิจกรรมเสริมประสบการณ์หรือหลักสูตรที่เอื้อต่อการสร้างเสริม EF ให้ดีที่สุด ในช่วงเวลาที่ดีที่สุดครับ
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น