แนะนำ Dictionary Apps ที่ครูโจโจ้ใช้


การเรียนรู้ภาษาอังกฤษที่ดีนั้นต้องมีอาวุธข้างกายที่สำคัญ ก็คือ Dictionary หรือพจนานุกรมนั่นเอง ซึ่งในยุคนี้ถ้าเราไม่อยากแบก dictionary เล่มหนาๆ หนักๆ เราก็สามารถใช้แอปพลิเคชันผ่านโทรศัพท์มือถือของเราได้ง่ายๆ ทั้งนี้ทั้งน้้นเมื่อเข้าไปค้นหาคำว่า Dictionary Thai Eng ก็มีแอปมากมายให้เราได้เลือกใช้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละคนครับว่าใช้แล้วรู้สึกพึงพอใจแอปตัวไหน เพราะคนเรามีความชื่นชอบไม่เหมือนกันครับ 

อย่างไรก็ดี ในบทความนี้ครูโจโจ้ก็จะมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์การใช้ Dictionary applications ที่ใช้ในชีวิตประจำวันนะครับ เพื่อแนะนำให้รู้จักกัน ซึ่งขอบอกไว้ก่อนนะครับว่า Dictionary applications ของครูโจโจ้ส่วนใหญ่นั้นซื้อมาครับ มีบ้างที่เป็นของฟรี เพราะว่าอาชีพครูสอนภาษาอังกฤษก็ต้องมี Dictionary ใช้เป็นอาวุธติดตัวเช่นกัน จึงเห็นว่ามันจำเป็นจริงๆ ก็เลยซื้อแบบ Premium เสียเลยดีกว่า เพื่อใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่  แอปที่ครูโจโจ้ใช้มีดังต่อไปนี้ครับ

1. LINE Dictionary (ฟรี) 


แอปตัวนี้ฟรีและดีมากๆ ครับ ครูโจโจ้แนะนำเลย ทุกครั้งที่เปิดเทอมใหม่ครูโจโจ้จะแนะนำให้นักเรียนติดตั้งแอปนี้ในมือถือเป็นประจำ เนื่องจากแอปนี้ได้ร่วมกับ SE-ED, สวทช และ Prof.Dr.Wit ครับ แต่ละเล่มคือ dictionary เจ๋งๆ อยู่แล้วที่มารวมอยู่ในแอปเดียว มีทั้งการแปลอังกฤษ-ไทย (ENG-TH) ไทย-อังกฤษ (TH-ENG) และ อังกฤษ-อังกฤษ (ENG-ENG) นอกจากนั้นแอปนี้ยังบอก คำเหมือน (synonym) และ คำที่มีความหมายตรงข้ามของคำศัพท์ (antonym) บอกรากศัพท์และการแตกแขนงของศัพท์ (derivation)  Part of Speech กริยารูปต่างๆ มีตัวอย่างประโยคประกอบความเข้าใจพร้อมทั้งแปลเป็นภาษาไทยให้อีกด้วย นอกจากนี้แอปพลิเคชั่นมีเกมต่างๆ เพื่อฝึกการเรียนรู้คำศัพท์อีกด้วย ข้อจำกัดคือตัวแอปไม่สามารถเปลี่ยนเป็นแนวนอนได้ (แต่ถ้า split หรือแบ่งหน้าจอจะสามารถใช้แนวนอนได้ครับ) นับว่าเป็นแอปพลิเคชั่นที่เหมาะสำหรับการเรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษเป็นอย่างยิ่ง จึงแนะนำให้ผู้เรียนควรมีติดตัวไว้จริงๆ ครับ ย้ำอีกครั้งว่า ฟรี!

2. Dictionary ในระบบของ Samsung (ฟรี)


ตัวต่อมานี้เป็นแอปลับนะครับ ที่ลับเพราะว่าไม่ได้โหลดจาก Play Store นะครับ ต้องเข้าไปในเว็บบราวเซอร์ของ Samsung เสียก่อน จากนั้นเข้าเว็บอะไรก็ได้ แล้วต่อไปก็แตะที่คำศัพท์ที่เราอยากรู้ความหมาย ก็จะมีเมนูกฏให้เลือกดาวโหลด dictionary นะครับ ก็จะปรากฏแอปพลิเคชันนี้ขึ้นมา (ไว้ถ้าใครสนใจจะเขียนบทความเรื่องนี้เพิ่มเติม) ซึ่งแอปตัวนี้รวมเล่มพจนานุกรมของ HaperCollins Publishers กับ Prof.Dr.Wit นะครับ ซึ่งก็จะมีการแปลที่ให้ความหมายหลากหลาย ทั้ง ENG-TH, TH-ENG, ENG-ENG และ TH-TH ด้วย แต่ไม่มีตัวอย่างประโยคให้นะครับ ข้อดีที่แตกต่างจาก LINE Dictionary ก็คือ เป็นพจนานุกรมไทยได้ด้วย ตัวแอปสามารถใช้งานในแนวนอนได้ และสามารถ split หน้าจอในการทำงานได้ ดังนั้นเมื่อเราอ่านบทความในมือถือหรือแท็บเล็ตก็สามารถแบ่งออกเป็นสองจอระหว่างบทความที่อ่านกับ dictionary เพื่อให้ง่ายต่อการแปลมากขึ้น

3. Dictionary.com Premium


แอปนี้ใช้เฉพาะแปล ENG-ENG ครับ จุดเด่นที่สำคัญของแอปนี้คือ Thesaurus ซึ่งเป็นพจนานุกรมหรือสารานุกรมคำพ้อง เป็นการบอกคำที่มีความหมายเหมือนหรือคล้ายกันอย่างเป็นหมวดหมู่ ซึ่งตัวแอปนี้ก็มาจาก Thesaurus.com และ Dictionary.com ที่นักศึกษานิยมใช้กันครับ ในตัวแอปมีการให้นิยามความหมายที่หลากหลายพร้อมทั้งให้ความรู้ โหมดที่ครูโจโจ้ชอบคือ Learners เป็นการอธิบายความหมายที่ง่ายต่อการเข้าใจ พร้อมทั้งยกตัวอย่างให้เข้าใจการใช้คำศัพท์นั้นๆ มากขึ้น และแน่นอนคือ Thesaurus เวลาที่เราต้องการใช้ศัพท์อื่นที่มีความหมายใกล้เคียงกัน นิสิต/นักศึกษาที่เรียนเอกภาษาอังกฤษแนะนำว่าควรมีครับ แต่ข้อจำกัดจะเหมือน LINE Dictionary ครับ คือไม่สามารถใช้ในแนวนอนได้ นอกจากเราจะทำการ split หน้าจอจึงจะสามารถใช้งานในแนวนอนได้ครับ

4. Merriam-Webster Dictionary Premium


ใช้แปลเฉพาะ ENG-ENG อีกแอปหนึ่ง ซึ่งก็มีทั้ง Dictionary และ Thesaurus เช่นเดียวกัน จุดเด่นของแอปนี้คือมีให้ความรู้เรื่องไวยากรณ์ของคำศัพท์ แบบเดียวกับ LINE Dictionary ที่เป็นภาษาอังกฤษ บอกที่มาหรือประวัติของคำศัพท์ เป็นความรู้ให้เราได้เข้าใจคำศัพท์ในอีกระดับ และมีเกมฝึกการเรียนรู้คำศัพท์อีกด้วย เวลาที่ครูโจโจ้ค้นหาความหมายของคำศัพท์ก็มักจะใช้ Dictionary.com กับ Merriam-Webster ควบคู่กันครับ ทำให้เราเข้าใจคำศัพท์นั้นๆ มากขึ้น 


เพิ่มเติม  Merriam-Webster นั้นมีอีกแอปคือแบบ Learner ซึ่งโลโก้จะเป็นสีเขียว การให้คำนิยามของคำศัพท์จะไม่ละเอียดเท่า แต่การให้ตัวอย่างประโยคประกอบนั้นจะละเอียดกว่า หลากหลาย แอปตัวนี้ครูโจโจ้ก็ซื้อมาด้วยเช่นกันครับ คิดว่าแค่ตัวแรกที่เป็นสีแดงก็เพียงพอแล้วนะครับสำหรับการแปล หลังๆ มาเอาประโยคตัวอย่างที่อยู่ในแอปนี้มาใช้ในการประกอบการสอนศัพท์และทดสอบนักเรียนมากกว่าครับ ;)

5. The Free Dictionary by Farlex Pro


อันนี้ก็เป็นแอปที่แปลเป็น ENG-ENG เช่นกัน ส่วนมากครูโจโจ้จะใช้แอปตัวนี้เก็บตกเวลาที่ค้นหาแล้วไม่เจอในแอปที่กล่าวมาข้างต้น เนื่องจากอาจจะเป็นคำสแลง สำนวน ค่อนข้างจะหาเจอในนี้ครับ (เช่นหาคำว่า Netflix and chill) รวมถึงศัพท์มีที่มาจากภาษาอื่น การให้คำจำกัดความถือว่าใช้ได้ครับ หลากหลาย มีตัวอย่างที่ดี บางทีก็เป็นแอปที่ให้ความรู้เพิ่มเติมในเรื่องของความเป็นมาที่ดี เสริมจากแอปที่กล่าวมาข้างต้น แอปนี้ใช้งานในแนวนอนได้ครับ เพียงแต่ครูโจโจ้คิดว่าการออกแบบการแสดงผลดูไม่ค่อยเป็นมิตรเท่าไหร่ ถ้าเทียบกับแอปที่ผ่านมานะครับ 

6. Google Translate (ฟรี)


แอปตัวนี้คิดว่าไม่ต้องแนะนำมากครับ เป็นแอปยอดนิยมเลยก็ว่าได้ แต่ครูโจโจ้ไม่ค่อยแนะนำให้ใช้เพื่อการเรียนรู้คำศัพท์นะครับ เนื่องจากมันเป็นการแปลที่ตรงๆ เลย ไม่มีการขยายความหรือให้ความหมายที่หลากหลาย และไม่มีการให้ความรู้เรื่องอื่นๆ เหมือนกับแอปที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมด จึงแนะนำว่าให้ใช้ในยามฉุกเฉินดีกว่าครับ ไม่แนะนำให้ใช้กับการเรียนรู้ เพราะนักเรียนส่วนมากชอบใช้ Google Translate แปลทั้งประโยค บ้างก็ใช้แปลทั้งย่อหน้าเลยก็มี มันเป็นแอปที่แปลแบบฉาบฉวยครับ ซึ่งเป็นการแปลที่ไร้ประสิทธิภาพ เหมาะกับสถานการณ์เฉพาะหน้ามากกว่า เช่นไปเที่ยวต่างประเทศแล้วต้องการแค่ความหมายอย่างเดียว เพราะการแปลแบบฉาบฉวยนั้นนักเรียนจะไม่เกิดการเรียนรู้ แปลเสร็จแล้วก็ผ่านไป เมื่อไม่มีประสบการณ์เรียนรู้ก็จะทำให้การจดจำคำศัพท์นั้นน้อยลง แนะนำว่าถ้าต้องการใช้จริงๆ ควรแปลที่ละคำศัพท์ดีกว่าครับ แล้วค่อยร้อยเรียงตัวเองอีกทีดีกว่าครับ 

เพิ่มเติม การที่นักเรียนแปลประโยคจากโดยใช้ Google Translate นั้น ครูผู้สอนสามารถดูออกได้เลยครับว่านักเรียนใช้แอปแปลมาส่ง โดยเฉพาะจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ (TH-ENG) เนื่องจากการแปลไม่มีประสิทธิภาพที่เห็นได้ชัด และเป็นการแปลที่มักง่ายเกินไป ดังนั้นอย่าทำนะครับ

7. Google (ฟรี) 



อันนี้ไม่ได้เป็นแอปอะไรนะครับ คือใช้การ search ปกติทั่วไปเพื่อหาความหมายของคำศัพท์ผ่าน Google ก็ใช้ได้นะครับ โดยเพิ่มคำว่า definition ท้ายคำศัพท์ที่เราต้องการหา ก็จะเป็นการให้นิยามคำศัพท์เป็นภาษาอังกฤษที่ใช้ได้ดี แน่นอนครับว่าดีกว่า Google Translate และถ้ากดลูกศรเพื่อขยายลงมาก็จะมีให้เลือกแปลเป็นภาษาไทยด้วยครับ หรือเวลาที่เรา search เราสามารถเพิ่มคำว่า pronunciation แทน ซึ่งให้ตัวอย่างการอ่านออกเสียง โดยมีแอนิเมชั่นประกอบการออกเสียงด้วย มีทั้งแบบ British และ American ครับ

8. Urban Dictionary (ฟรี) 

เพิ่งติดตั้งมาใช้ไม่นานนี้เอง ปกติแล้วครูโจโจ้มักค้นหาคำศัพท์พวกคำแสลงในเว็บ https://www.urbandictionary.com เป็นประจำ เพราะจะเป็นแหล่งที่มีคำแสลงใหม่ๆ อัพเดทตลอด ล่าสุดเพิ่งเห็นว่าทำ app ขึ้นมา ก็เลยติดตั้งซะเลย เวลาเจอศัพท์วัยรุ่นใหม่ ๆ ที่เราไม่รู้จัก ต้อง app นี้เท่านั้นครับ ตอนนี้เห็นเป็นแบบฟรีอยู่ ไม่แน่ว่าอนาคตอาจจะออกเวอร์ชั่น pro ขึ้นมาก็ได้ และแน่นอนครับ ครูโจโจ้ก็จะเป็นคนหนึ่งที่ซื้อมาใช้ติดไว้ในโทรศัพท์มือถือครับ :)

เหล่านี้คือเครื่องมือที่ครูโจโจ้ใช้เป็นอาวุธในการเรียนรู้ภาษาอังกฤษถึงแม้จะเป็นครูก็ตาม แต่การเรียนรู้นั้นไม่มีวันสิ้นสุดครับ หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับนักเรียน นิสิต/นักศึกษา และผู้ที่สนใจเรียนภาษาอังกฤษด้วยตนเอง เพื่อมีเครื่องมือเสริมการเรียนรู้และความเข้าใจให้มากขึ้นครับ หากใครมีแอปพลิเคชั่นไหนดีๆ ที่นอกเหนือจากที่ได้กล่าวไว้ก็สามารถเล่าสู่กันฟังได้ โดยคอมเมนต์ใต้บทความนี้นะครับ

ครูโจโจ้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Sport Day หรือ Sports Day?

Organizing : Topic, Supporting และ Concluding Sentences

เด็กปีหนึ่งใช้ "Freshman" หรือ "Freshmen" ???