ภาวะสับสนการใช้เทคโนโลยีของครูในโรงเรียน


ในช่วงที่เกิดการ lockdown หรือการปิดประเทศ เนื่องจากสถานการณ์โควิด19 นี้ โรงเรียนหรือสถานศึกษาต้องปิดเพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสระบาด การเปิดเทอมจึงต้องเลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 ก.ค. ก่อนหน้าที่ทางกระทรวงศึกษาธิการประกาศวันเปิดเทอมนั้นได้ประกาศผลักดันให้ครูไทยจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์ ปัญหาก็คือ ไม่ได้ระบุว่าจะใช้ออนไลน์แบบไหน โปรแกรม แอพพลิเคชั่น หรือ ซอฟแวร์อะไร แต่ละโรงเรียนจึงสรรหาระบบกันเอง และแต่ละโรงเรียนก็ใช้ระบบไม่เหมือนกัน โปรแกรมที่ใช้ก็ไม่เหมือนกัน ในทำนองเดียวกัน บางโรงเรียนยังไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเสียเลยด้วยซ้ำ จึงทำให้ครูผู้สอนเกิดความสับสน และบ้างก็อาจจะเครียดก็เป็นได้

สำหรับครูที่มีความชื่นชอบเทคโนโลยี เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่สนุกท้าทาย เพราะเขาพร้อมที่จะนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้สำหรับการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากเขาศึกษาและเรียนรู้กับสื่อเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่ตลอด แต่ก็ต้องระมัดระวัง การที่เรารู้มากและพยายามยัดเยียด หรือ นำเสนอสื่อเทคโนโลยีที่มีอยู่มากมายมาใช้นั้น มันอาจจะทำให้ครูที่ไม่มีความถนัดทางเทคโนโลยีนั้นเกิดความสับสนและเกิดความเครียดขึ้นได้ ยิ่งบางแห่งมีครูที่เก่งเทคโนโลยีหลายคน แต่ชื่นชอบโปรแกรมไม่เหมือนกัน ยังไม่พอ แต่ละคนยืนหยัดที่จะนำเสนอโปรแกรมที่ตนเองชื่นชอบนั้นๆ ลูกเดียว ก็อาจจะทำให้เกิดความขัดแย้งได้ และส่งผลเป็นความเครียดสำหรับครูท่านอื่นมากกว่าเดิมไปอีก ดังนั้นครูควรเลือกใช้ที่จำเป็นจริงๆ อย่าเบ่งว่าตนเองรู้มากหรือเหนือกว่าคนอื่น ในภาวะวิกฤติที่เป็นเช่นนี้ เราควรร่วมมือร่วมใจกันเสียดีกว่าที่จะแข่งขันหรือโอ้อวดกัน มากไปกว่านั้น การที่นักเรียนต้องใช้โปรแกรมหรือแอพพลิเคชั่นที่หลากหลายมากเกินไปเนื่องจากครูเลือกใช้แตกต่างกัน ทำให้พวกเขาเกิดความสับสน และอาจทำให้การเรียนออนไลน์ของพวกเขาไม่ได้เกิดความสุข อีกทั้งโทรศัพท์มือถือของนักเรียนบางคนนั้น ไม่ได้มีพื้นที่ที่มากพอสำหรับการรองรับความพึงพอใจของครูทุกคน

ในส่วนของครูที่ไม่ถนัดเรื่องเทคโนโลยีนั้นไม่ใช่เรื่องที่ผิด เพราะความถนัดหรือความชื่นชอบของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ขอเพียงคุณครูยอมเปิดใจและพร้อมที่จะเรียนรู้ และอย่าเปรียบเทียบตัวเองกับครูที่มีความถนัดด้านเทคโนโลยี ของแบบนี้ต้องใช้เวลาในการศึกษา ในการลองผิดลองถูก การที่เราไม่มีความถนัดนั้นไม่ได้หมายความว่าเราทำไม่ได้ เราไม่จำเป็นต้องใช้โปรแกรมอะไรมากมายให้ยุ่งยากซับซ้อน และสถานการณ์นี้ไม่ได้อยู่กับเราไปตลอด วันหนึ่งนักเรียนก็ต้องกลับมาเรียนในห้องเรียนเหมือนเดิม แล้วถ้ายิ่งคุณครูมีทักษะการใช้เทคโนโลยีในการสอนเพิ่มขึ้น จากนี้ไปการสอนในห้องเรียนก็จะมีเครื่องมือที่มาเสริมการเรียนการสอนของครูเพิ่มขึ้น แม้ตอนนี้มีข้อมูลที่หลากหลาย มีโปรแกรมเลือกให้มากมายจนดูเยอะไปหมด ขอให้คุณครูเลือกที่จำเป็น ส่งเสริมต่อบุคลิค หรือ สไตล์การสอนของเราก็เป็นพอครับ เพราะการที่ใช้เทคโนโลยีที่หวือหวามากเกินไป และไม่ได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์การเรียนรู้ อาจจะเป็นสึ่งที่ดึงดูดความสนใจนักเรียนออกจากวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายการเรียนรู้ก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี ขอให้คุณครูนึกถึงผู้เรียนเป็นหลัก การเลือกใช้สื่อเทคโนโลยีไม่ควรใช้แตกต่างหลากหลายจนเกินไป ดังที่กล่าวไว้เบื้องต้น ควรให้เป็นนโยบายของโรงเรียนว่าจะใช้โปรแกรมอะไร อย่างไร เช่นโปรแกรมที่ใช้ในประชุมที่นำมาปรับใช้ในการเรียนการสอนออนไลน์ มีทั้ง Zoom, Google Meet, Microsoft Team, Cisco Webex, หรือ LINE เป็นต้น ลองคิดดูว่าหากครูแต่ละคนยืนยันที่จะใช้โปรแกรมที่ตนเองชื่นชอบ นักเรียนจะมีความสับสนแค่ไหน ทั้งๆ ที่การใช้งานเหมือนกัน มีความต่างเพียงรายละเอียดเล็กน้อย โรงเรียนควรจะหารือและพูดคุยเพื่อเปรียบเทียบการใช้งานของแต่ละโปรแกรมให้ตกผลึกว่านโยบายโรงเรียนจะใช้อะไรเป็นหลัก โปรแกรมที่จะสร้างแบบทดสอบออนไลน์ จะใช้ Google Forms หรือ Microsoft Forms ให้เอาซักอย่างหนึ่ง

มากไปกว่านั้นนโยบายของรัฐก็ควรชัดเจน ขณะนี้ยังเกิดความสับสนต่อครูไทย หากรัฐมีนโยบายเปิดเทอมวันที่ 1 ก.ค. และเรียนแบบไม่มีปิดเทอมเพื่อให้จำนวนคาบนั้นครบ แล้วใยเล่าเราจึงต้องทำการสอนออนไลน์อีก มันไม่ทำให้คาบสอนนั้นเกิน 40 คาบหรือ? อย่างนี้เป็นต้น การสอนออนไลน์ควรเป็นเรื่องบังคับ หรือควรเป็นแค่ทางเลือกสำหรับครูผู้สอนกันแน่? เหล่านี้ยังคงเป็นคำถามสำหรับหลายคน

สุดท้ายนี้ครูโจโจ้ขอทิ้งท้ายว่า สื่อการนำเสนอการเรียนรู้ที่สำคัญที่สุดคือ การสื่อสารของครูผู้สอน นั่นเอง หากการสื่อสารของครูผู้สอนชัดเจนแบบที่เราสอนในห้อง ตามบุคลิคตามสไตล์ของแต่ละท่าน สื่อเทคเทคโนโลยีอย่างการทำคลิปวิดีโอก็ไม่จำเป็นต้องใช้เอฟเฟคอะไรมากมาย ที่ทำให้การสื่อสารของเรานั้นด้อยลงไป ซึ่งเมื่อการสื่อสารของเรานั้นดีอยู่แล้ว เอฟเฟคเหล่านั้นอาจจะกลายเป็นสิ่งที่น่ารำคาญต่อผู้เรียนก็เป็นได้

ครูโจโจ้เชื่อว่าในช่วงเวลานี้ ยุคนี้
อาหารหลักของการเรียนรู้ก็ยังเป็นการสอนในห้องเรียน
การสอนออนไลน์นั้นเป็นเพียงอาหารเสริม

เพียงแต่ในวิกฤติโลกเช่นนี้ก็มีโอกาสดีๆ ที่ทำให้ครูได้ตื่นตัวการใช้เทคโนโลยีเข้ามาส่งเสริมการสอนของเรา แต่ในที่สุดแล้ว โลกก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติซักวันในอีกไม่นาน และขอเป็นกำลังใจให้กับครูผู้สอนทุกท่านครับ เราก็จะผ่านพ้นเรื่องนี้ไปด้วยกัน

ครูโจโจ้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Sport Day หรือ Sports Day?

เด็กปีหนึ่งใช้ "Freshman" หรือ "Freshmen" ???

Organizing : Topic, Supporting และ Concluding Sentences