รีวิวหนังสือ - โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง



"โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง" เป็นหนังสือที่ครูโจโจ้เคยอ่านครั้งเมื่อยังเป็นนักศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตั้งแต่ครั้งนั้นยังประทับใจไม่รู้ลืม จนได้เห็นวางอยู่บนแผงหนังสือใหม่อีกครั้ง เลยซื้อเก็บไว้เป็นที่ระลึกและอ่านทบทวนเพื่อเติมเต็มไฟฝันในการทำอาชีพครู

"โต๊ะโตะจัง เด็กหญิงข้างหน้าต่าง" เป็นหนังสือที่เล่าจากประสบการณ์ชีวิตจริงของผู้เขียน คุโรยานางิ เท็ตสึโกะ ในวัยเด็กประถมที่โรงเรียน โทโมเอ ซึ่งก่อตั้งโดย คุณครูโคบายาชิ โซซาขุ เป็นคุณครูใหญ่ของโรงเรียนโทโมเอด้วย หนังสือเล่มนี้แปลเป็นภาษาไทยโดย คุณผุสดี นาวาวิจิต และตีพิมพ์เป็นภาษาไทยครั้งแรกเมื่อปี 2527 โดยสำนักพิมพ์กะรัต ต่อมาเป็นฉบับแก้ไข ตีพิมพ์ในปี 2558 โดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อญี่ปุ่น

ความประทับใจของครูโจโจ้ที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ คือแนวคิดของคุณครูใหญ่ โคบายาชิ โรงเรียนโทโมเอเป็นโรงเรียนที่ใช้ตู้รถไฟเก่า 6 ตู้มาเป็นห้องเรียน ลองจิตนาการดูนะครับว่าถ้าเราเป็นเด็กแล้วเดินเข้าไปในโรงเรียนที่เป็นรถไฟแบบนี้จะตื่นเต้นขนาดไหน แล้วยิ่งกิจกรรมการเรียนการสอนนั้นขับเคลื่อนโดยคุณครูใหญ่โคบายาชิ ผู้มีแนวคิดที่ทันสมัย ควบคู่ไปกับความเป็นธรรมชาติของเด็ก ซึ่งมีบทบาทสำคัญที่ทำให้คุณเท็ตซึโกะประสบความสำเร็จในชีวิตหน้าที่การงาน จนทำให้เธอนึกถึงโรงเรียนนี้อยู่เสมอ จึงเป็นแรงผลักดันให้คุณเท็ตซึโกะเขียนเล่าเรื่องราวชีวิตในวัยเด็กของเธอที่โรงเรียนแห่งนี้ที่ดำเนินเรื่องโดย โต๊ะโตะจัง ชื่อเรียกในวัยเด็กของเธอ แม้ปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้จะไม่มีเหลืออยู่อีกแล้วเนื่องจากเหตุการณ์สงครามโลกในเวลานั้น

คุณครูใหญ่โคบายาชิ สอนให้นักเรียนได้ฝึกคิดด้วยตัวเอง ไม่ตัดสิน ไม่ดุด่า อย่างเช่น ตอนที่โต๊ะโตะจังทำกระเป๋าตังค์หล่นในบ่อส้วม แล้วขุดมันขึ้นมา ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่บ้านเรา โต๊ะโตะจังคงโดนด่าไปแล้ว แต่สิ่งที่คุณครูโคบายาซิทำนั่นคือถามโต๊ะโตะจังว่า "ทำอะไรน่ะ" พอโต๊ะโตะจังตอบท่านก็เพียงแค่ "อ๋อเหรอ" แล้วก็ปล่อยให้โต๊ะโตะจังทำไป โดยแวะมาดูเป็นระลอกๆ แล้วก็ทิ้งท้ายด้วยว่า "เสร็จแล้วเก็บทุกอย่างเข้าที่ด้วยนะ" ซึ่งเป็นการพูดที่ให้ความเชื่อถือกับเด็ก รวมถึงเรื่องการใช้คำพูดง่ายๆ ให้เด็กเข้าใจว่าควรกินอาหารให้ครบทั้ง "อาหารจากทะเล" และ "อาหารจากภูเขา" อาหารจากทะเลก็คือพวกเนื้อปลาต่างๆ ที่เป็นโปรตีน ส่วนอาหารจากภูเขาก็คือพืชผักที่มีวิตามิน ในส่วนนี้ประทับใจมาก จนเวลาทานข้าวตัวครูโจโจ้เองก็จะมองและพิจารณาอาหาร คิดถึงแทบทุกครั้งว่าอาหารมื้อนี้มีทั้งอาหารจากภูเขาและทะเลครบทั้งสองไหม

ต่อมาคือ โรงเรียนโทโมเอที่มีความหลากหลาย เพื่อนของโต๊ะโตะจังมีนักเรียนพิการและโปลิโออยู่ด้วย เป็นการสอนให้นักเรียนได้รู้จักเรียนรู้และอยู่ร่วมกันโดยไม่ให้เด็กรู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อย มากไปกว่านี้นคือมีกิจกรรมการเรียนการสอนที่ให้อิสระตามความชอบของผู้เรียน อย่างคาบแรก ครูจะให้นักเรียนเลือกเรียนตามที่ตนเองถนัดหรือสนใจ ไม่ได้แบ่งคาบเป็นวิชาตายตัว แบบนี้ทำให้เด็กรู้สึกสนุกตั้งแต่คาบแรกแล้ว ดังนั้นเด็กโรงเรียนโทโมเอจึงชอบไปโรงเรียนกัน และมีอยู่วันหนึ่งที่โรงเรียนทำค่ายให้นักเรียนนอนที่โรงเรียน ระหว่างอยู่ค่ายก็มีการแบ่งเวรให้นักเรียนไปจ่ายตลาดเพื่อประกอบอาหาร เราลองจิตนาการดูว่าถ้าเราย้อนกลับไปเป็นเด็กในวัยนั้น แล้วได้เรียนกับโรงเรียนแบบนี้ ชีวิตจะมีความสุขขนาดไหน อีกอย่างหนึ่งก็คือ เด็กโรงเรียนโทโมเอไม่ค่อยกลับไปขีดเขียนอะไรที่ผนังบ้านหรือโต๊ะ เพราะเด็กได้เขียนที่โรงเรียนมามากพอแล้ว

และคนที่สำคัญอีกคนหนึ่งต่อชีวิตของโต๊ะโตะจังก็คือคุณแม่นั่นเอง คุณแม่ของโต๊ะโตะจังเป็นแม่ที่เก่งมาก เป็นแม่ที่สอนลูกดีมาก รับฟัง และหมั่นตั้งคำถามให้กับลูก ในหนังสือมีอยู่ตอนหนึ่งที่ประทับใจมากๆ คือตอนที่แม่สอนเรื่องความเท่าเทียมคนเรามีความเป็นมนุษย์เท่ากัน ไม่ว่าจะคนเกาหลี คนญี่ปุ่น ก็คือคนเหมือนกัน เรื่องนี้คุณแม่ของโต๊ะโตะจังจริงจังมากจนขั้นถึงร้องไห้ออกมา เมื่อตอนที่โต๊ะโตะจังเล่าว่ามีคนพูดเหยียดเด็กเกาหลีในวันนั้น (ช่วงสงคราม เกาหลี กับ ญี่ปุ่น ไม่ถูกกัน)

นับว่าสามสิ่งนี้ คุณแม่ คุณครูใหญ่ และ โรงเรียน คือสิ่งที่หล่อหลอมวัยเด็กของโต๊ะโตะจังให้เติบใหญ่มาอย่างมีความสุข มีคุณภาพ และประสบความสำเร็จ ถือว่าโต๊ะโตะจังโชคดีมากที่เกิดมาในครอบครัวที่อบอุ่น และเจอกับโรงเรียนที่มีความสุข แม้ว่าครั้งแรกตัวโต๊ะโตะจังจะถูกโรงเรียนเก่าเชิญให้ออกเพราะว่าซนจนคุณครูรับไม่ไหว แต่ความก๋ากั่นของโต๊ะโตะจังคือธรรมชาติของเด็กที่มาอยู่ถูกที่ถูกเวลา ณ โรงเรียนโทโมเอ

คำพูดที่ประทับใจโดยครูใหญ่กล่าวไว้ว่า "เด็กทุกคนเกิดมาพร้อมกับพื้นฐานนิสัยที่ดี แต่ถูกทำลายเพราะสิ่งแวดล้อม หรือได้รับอิทธพลไม่ดีของผู้ใหญ่เสียก่อนจะโตขึ้น จึงต้องรีบช่วยกันหาสิ่งดีนั้นและสนับสนุนไปในทางที่ถูกเพื่อจะสร้างคนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว" ซึ่งการศึกษาในปัจจุบันก็กำลังแสวงหาการเรียนการสอนให้เด็กเติบโตมาตามธรรมชาติของเด็ก นับว่าแม้หนังสือเล่มนี้จะเล่าเรื่องโรงเรียนที่มีอยู่ในช่วงสมัยสงครามโลก แต่แนวคิดยังคงทันสมัยและสามารถนำมาปรับใช้ในยุคปัจจุบันได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ตาม คุณครูโคบายาชิ ก่อนที่จะก่อตั้งโรงเรียนก็เคยเป็นครูที่โรงเรียนอนุบาลเซเค ซึ่งมีอิทธิพลต่อการคิดของคุณครูโคบายาชิเป็นอย่างมาก สโลแกนของโรงเรียนอนุบาคเซเคคือ "อย่าจับเด็กใส่กรอบ ให้ปล่อยเด็กตามธรรมชาติ เพราะความคิดฝันของเด็กๆ ใหญ่กว่ากรอบของครู"

หนังสือเล่มนึ้จึงเป็นหนึ่งในเล่มโปรดของคุณครูโจโจ้ เพราะได้ปรับทัศนคติต่อความเป็นครูมากพอสมควร พอได้อ่านแล้วก็ลองจินตนาการว่าตนเองเรียนอยู่โรงเรียนโทโมเอมันช่างรู้สึกมีความสุขเสียเหลือเกิน และน่าตื่นเต้นตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าไปเห็นโรงเรียนที่เป็นรถไฟแล้ว ดังนั้นก็จึงอยากให้เด็กนักเรียนที่สอนมีประสบการณ์ความสุขแบบนี้บ้าง แม้จะไม่ใช่โรงเรียนรถไฟ แต่ให้บรรยากาศในห้องเรียนมีความสุขเหมือนกับห้องเรียนของโต๊ะโตะจัง มากได้เท่าที่บริบทของตนเองทำได้ นั่นก็ทำให้มีความสุขแล้ว

รายละเอียดการจัดการเรียนการสอนรวามถึงแนวคิดอีกมากมายผ่านการสอนของคุณครูใหญ่โคบายาชิมีอีกมากมายอยู่ในหนังสือ จึงอยากจะแนะให้อ่านกันครับ โดยเฉพาะคนที่เรียนด้านครู ศึกษาศาสตร์ คุรุศาสตร์ หรือใครก็ตามที่อยากเป็นครูสอนหนังสือ หรือ ผู้ปกครองก็ดี รวมถึงผู้บริหารและเจ้าของโรงเรียนได้อ่านทบทวนกันอีกครั้ง เพื่อให้การศึกษาในโรงเรียนของท่าน และของเมืองไทยบ้านเราเต็มไปด้วยประสบการณ์ที่มีความสุขภายในโรงเรียนให้กับนักเรียนไทยอย่างเป็นวงกว้างต่อไป

ครูโจโจ้

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Sport Day หรือ Sports Day?

เด็กปีหนึ่งใช้ "Freshman" หรือ "Freshmen" ???

Organizing : Topic, Supporting และ Concluding Sentences