รีวิวสารคดี The Bad Kids ผ่านมุมมองสังคมและการศึกษา
ดูสารคดีเรื่อง The Bad Kids ผ่าน Netflix ที่นำเสนอเรื่องราวของชีวิตนักเรียนที่มีปัญหาต่างๆ ในโรงเรียน Hard Rock High School กับการดูแลของครูท่านหนึ่งในการแก้ปัญหา
ปัญหาที่พบคือสุดยอดจริงๆ บ้านเขาหนักกว่าที่เคยเจอ (ซึ่งบ้านเราก็อาจจะมีแต่เป็นมุมหนึ่งที่เราอาจยังไม่เคยรับรู้) เช่น เคสเด็กที่อยู่กันเป็นครอบครัวพ่อแม่ลูกแล้วก็มาเรียนหนังสือด้วย วันหนึ่งผู้ชายเครียดเพราะยังอยากมีชีวิตวัยรุ่น แค่ภาระเรียนให้จบก็จะไม่รอด โดนแม่ไล่ออกจากบ้าน ต้องมาเลี้ยงลูกน้อยอีก ชีวิตพัง โทษผู้หญิงลูกเดียว(เรียนในโรงเรียนเดียวกัน) บางวันก็ต้องเอาลูกมาโรงเรียนด้วย ครูก็ต้องมาช่วยไกล่เกลี่ยปัญหาครอบครัว ให้สู้และผ่านช่วงนี้ไปให้ได้
อีกปัญหาหนึ่งคือเคสนักเรียนที่ไม่มีใจอยากเรียนเลย ติดยา ที่ติดยาก็คือเสพกับแม่ แต่ชอบดนตรี ครูก็พยายามดึงสิ่งที่ชอบเข้ามาเข้าสู่บทเรียน ก็สามารถทำได้ในระยะหนึ่่ง แต่ปัญหาหลักๆ ที่แก้ไม่ได้ของคุณครูคือ ครูไม่สามารถแก้ปัญหาที่บ้านของนักเรียนได้เลย เมื่อกลับบ้านไปเจอการเลี้ยงดูแย่ๆ แบบนั้นก็ยากที่จะก้าวต่อ สุดท้ายเคสนี้แก้ไม่ได้ เด็กคนนี้เลือกกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม
ในสารคดีนำเสนอทั้งสองมุม มุมที่นักเรียนหลายคนมีปัญหาครอบครัว แต่ที่นี่ช่วยกันดูแลจนสามารถเรียนจบและภาคภูมิใจได้ และมีเด็กอีกหลายส่วนที่ก้าวร้าวและแก้ปัญหาไม่ได้ ต้องพักการเรียน ไล่ออกก็มี โดยรวมคือได้เห็นความอดทนของครูที่ใช้เวลาในการดูแลติดตาม (ใจเย็นมาก) เน้นการเจรจา เป็นที่ปรึกษา การให้คำชื่นชม การที่เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วย
มีอยู่ฉากหนึ่งที่ครูเขาประชุมกันเพื่อแชร์ปัญหานักเรียนของตัวเองที่ได้พบ หลายคนอึดอัดร้องไห้ออกมา เพราะเมื่อใดก็ตามที่ได้เข้าไปสู่ปัญหาของพวกเขาแล้ว มันก็จะเป็นสิ่งที่เข้ามากระทบต่อภาวะจิตใจครู เหมือนเป็นปัญหาของครูไปด้วย ครูบางคนนอนไม่หลับหลายคืนเพราะคิดมากจนวิตกกังวล สุดท้ายก็กลายเป็นครูต้องมาประชุมเพื่อให้กำลังใจกันเอง (อ้ออ๋อย ... เอ็นดูชีวิตครูแต๊ๆ)
ข้อคิดที่ได้จากเรื่องนี้คือทุกทีล้วนมีปัญหาหมดแหล่ะ อยู่ที่การแก้ปัญหามันจะเป็นอย่างไร ครูก็ต้องปลง ต้องปล่อยวางบ้าง เพราะปัญหาบางอย่างแก้ไม่ได้เลย โดยเฉพาะเมื่อปัญหานั้นเกิดจากที่บ้าน ซึ่งเดี๋ยวนี้ก็เห็นจากสื่อสังคมเยอะไปหมด สถาบันครอบครัวเดี๋ยวนี้อ่อนแอมาก ปฏิสัมพันธ์ในครอบครัวไม่มี พ่อแม่เข้าใจว่าการทำงานหาเงินสำคัญกว่าการมีเวลาให้ลูก หลายครอบครัวที่มีลูกเมื่อยังไม่พร้อม ลูกที่ออกมาก็เป็นปัญหาสังคมอีก แต่ด้วยความที่การศึกษาของเมืองนอกให้เรียนในโรงเรียนของชุมชน จึงมีเจ้าหน้าที่มีส่วนร่วมในการดูแลด้วย ซึ่งบ้านเราทำยาก เด็กเรียนหนังสือไกลบ้านเพื่อมาร่ำเรียนโรงเรียนที่มีชื่อเสียง
สุดท้ายผมอยากจะบอกว่าเราเอาแต่โทษระบบการศึกษา แต่ถ้าระบบครอบครัวมีปัญหา การศึกษาก็ยากที่จะก้าวต่อ รัฐและสังคมควรให้แนวทางและรื้อฟื้นสถาบันครอบครัวให้กลับมาเข้มแข็งควบคู่ไปกับการศึกษาเพื่อการพัฒนาของชาติอย่างยั่งยืน
ครูโจโจ้
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น