ยกเลิก "เกรียน" เปลี่ยนเป็น "รองทรง"

       
      นับว่าเป็นประเด็นร้อนเลยทีเดียวสำหรับการยกเลิกบังคับทรงผมเกรียนในโรงเรียนต่าง ๆ ของไทย ซึ่งประกาศโดย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ตามกระแสไปต่างๆ นานา ทั้งเชิงลบและเชิงบวก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่แปลกที่มีคนคัดค้านกับการประกาศปรับปรุงกฏหมายของทรงผมนักเรียนเช่นนี้ ทั้งๆ ที่มันแทบจะไม่เป็นประเด็นของการศึกษาเลยด้วยซ้ำ มันเป็นประเด็นของสิทธิที่นักเรียนสามารถเลือกทรงผมได้ แต่ก็เป็นสิทธิที่ยังคงมีขอบเขตจำกัดอยู่เช่นกัน ซึ่ง รมต.ศึกษาธิการได้กล่าว่า "ถ้าตีความตามกฎกระทรวง พ.ศ.2515 นั้น นักเรียนชายจะต้องไว้ผมด้านข้างและด้านหลังเกรียน แต่กฎกระทรวง พ.ศ.2518 เปลี่ยนแปลงให้นักเรียนชายไว้ผมรองทรงได้ ไม่ต้องตัดผมด้านข้างหรือด้านหลังจนเกรียน แต่ในทางปฏิบัติ ร.ร.ยังคงยึดติดกับทรงผมเกรียนตามกฎกระทรวง พ.ศ.2515 ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เพราะกฎกระทรวงฉบับใหม่เปิดโอกาสให้เด็กไว้ทรงยามแบบรองทรงได้" 

ทีนี้เรามาดูกฏกระทรวงทั้ง 2 ฉบับที่ว่ากันดีกว่า (แบบย่อ) 
  • กฎกระทรวงฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๑๕) กล่าวไว้ว่าดังนี้ :
ข้อ ๑ การแต่งกาย และความประพฤติดังต่อไปนี้ถือว่าไม่เหมาะสมแก่สภาพของนักเรียน ตามความในข้อ ๔ แห่งประกาศของคณะปฏิบัติ ฉบับที่ ๑๓๒
(๑) นักเรียนชายไว้ผมยาว โดยไว้ผมข้างหน้าและกลางศีรษะยาวเกิน ๕ เซนติเมตร และชายผมรอบศีรษะไม่ตัดเกรียนชิดผิวหนัง หรือไว้หนวดหรือเครา นักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาต ให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย นักเรียนใช้เครื่องสำอาง หรือสิ่งปลอมเพื่อการเสริมสวย ....


************************************

  • กฎกระทรวงฉบับที่ ๒ (พ.ศ. ๒๕๑๘) ซึ่งเป็นการแก้ไขกฎกระทรวงดังกล่าวเพิ่มเติมจนเป็น กฎกระทรวง ฉบับที่ 2 มีความว่าดังนี้ : 

ให้ยกเลิกความในข้อ (๑) ของข้อ ๑ แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑ (พ.ศ. ๒๕๑๕) ออกตามความในประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๓๒ ลงวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“(๑) นักเรียนชายตัดผมหรือไว้ผมยาวจนด้านข้างและด้านหลังยาวเลยตีนผม หรือไว้หนวด ไว้เครา นักเรียนหญิงตัดผมหรือไว้ผมยาวเลยต้นคอ หากโรงเรียนหรือสถานศึกษาใดอนุญาตให้ไว้ยาวเกินกว่านั้นก็ให้รวบให้เรียบร้อย นักเรียนใช้เครื่องสำอาง หรือสิ่งปลอมเพื่อการเสริมสวย”


************************************

           จากนั้นจึงมีข้อข้องใจของคำว่า "ตีนผม" ว่าตกลงแล้วมันหมายความว่าอย่างไรกันแน่ ซึ่ง รมต.ศธ ก็ได้ได้ประชุมร่วมกับราชบัณฑิตยสถาน ซึ่งได้รับคำอธิบายว่า คือผมด้านหลังที่อยู่บนคอ "เพราะฉะนั้นแสดงว่าการไถเกรียนด้านข้างไม่ใช่แน่นอน แต่ถ้าหากพูดว่า “ผมรองทรง” คือใช่แน่นอนเพราะผมจะยาวไม่เกินตีนผม" นายพงศ์เทพ เทพกาญจนากล่าว

           และได้มีคนจำนวนไม่น้อยที่เข้าใจว่าการประกาศเรื่องของการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับแบบทรงผมของนักเรียนนั้น คือการยกเลิกทรงผมนักเรียน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนและกลายเป็นการเข้าใจผิดในที่สุด แท้จริงแล้วสิ่งทียกเลิกนั้นก็คือการยกเลิก "บังคับ" แต่นักเรียนสามารถเลือกที่จะตัดทรง "เกรียน" หรือ "รองทรง" ได้สองอย่างนี้เท่านั้น พูดง่ายๆ คือนักเรียนมีสิทธิในการเลือกทรงผมเพิ่มขึ้น จากเดิมที่บังคับนักเรียนประถม - ม.ต้น ตัดทรงนักเรียน ที่เกรียนสถานเดียว !!! ซึ่งเรื่องนี้แทบจะไม่มีผลใดๆ กับนักเรียน ม.ปลาย เลย เพราะตัดรองทรงอยู่แล้ว ส่วนที่ให้เลือกไว้ผมยาวได้ก็มีแต่นักเรียนหญิงเท่านั้น ซึ่งต้องเก็บผมให้เรียบร้อย ไม่ได้หมายความว่านักเรียนชายจะสามารถไว้ผมทรงไหนก็ได้ตามอำเภอใจแบบนักศึกษามหาวิทยาลัยตามที่หลายๆ คนโวยวายกัน เหตุเพราะยังไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจเสียก่อนที่จะโวยวายกันไป ถ้าหากจะพูดถึงประเด็นในเรื่องสิทธิเสรีภาพของนักเรียน มันก็เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นที่นักเรียนมีเสรีในการ"เลือก"ทรงผม แต่ไม่ใช่เสรีในการไว้ทรงผม เพราะยังจำกัดให้ยาวสุดแค่รองทรงเท่านั้น (ม.ปลาย ก็ยังคงดำเนินชีวิตนักเรียนตามปรกติ) ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่ที่ดุลยพินิจของสถานศึกษานั้นๆ อีกทีในการอนุญาตให้นักเรียนไว้ผมยาวได้มากกว่ารองทรง 

           ปัญหาอย่างหนึ่งที่นักเรียนไม่ได้ความยุติธรรมก็คือ สายตาของครูปกครองที่ตรวจผมของนักเรียนก็ไม่มีมาตรฐาน ไม่มีความเท่าเทียมกัน นักเรียนที่ผมหนา ผมหยักโศก แค่ยาวนิดหน่อยก็ดูเหมือนยาวจนน่าไถหัว ครูบางคนบอกไม่ยาว ครูบางคนบอกยาว แต่สุดท้ายฝ่ายที่บอกว่ายาวมักเป็นฝ่ายชนะเสมอ แม้ว่านักเรียนจะบอกว่าเพิ่งตัดมาใหม่ๆ สุดท้ายก็โดนไถหัวเป็นเส้น ครูบางคนโหดหน่อยก็ไถซะลึกจนแก้ไม่ได้ จนช่างผมก็ส่ายหัวว่าไถแบบนี้โกนดีกว่าน้อง!! เสียเวล่ำเวลานักเรียนในการหาร้านตัดผมยังไม่พอ เสียตังค์ไปปล่าวๆ ทั้งที่บางคนเพิ่งตัดมาได้ไม่นาน แบบนี้คนที่ผมเส้นเล็กบางก็ได้เปรียบ รอดตัวให้เด็กผมหนาอิจฉาเล่น 

         โดยส่วนตัวแล้วมองว่าครูปกครองควรหันไปมองเรื่องของวินัยเรื่องพฤติกรรมมากกว่าทรงผมที่เป็นเพียงแค่รูปลักษณ์ภายนอก เพราะในสังคมไทยในปัจจุบันคำว่า "เกรียน" นั้นกลายเป็นคำที่มีความหมายเชิงลบเชิงเสียดสี เช่น คำว่า ไอ้เกรียน หรือ เกรียนแตก เป็นต้น ซึ่งแสดงว่าเด็กที่มีทรงผมเกรียนๆ นั้นก็ก่อปัญหาให้กับสังคมไม่ใช่น้อยจึงเกิดคำนี้ขึ้นมา ถ้าเรารับข่าวสารก็จะเห็นเช่นนั้นว่าปัญหาวัยรุ่นมีมากหมายเหลือเกิน แสดงว่าทรงผมมันวัดพฤติกรรมของเด็กไม่ได้ ควรจะเน้นเรื่องของความตรงต่อเวลา ทั้งเรื่องมาเรียนหนังสือ หรือ การส่งงานเป็นต้น (ซึ่งเป็นนิสัยของคนไทยหลายคนที่เป็นปัญหาหนึ่ง) การแสดงออกต่อสาธารณะต่างๆ ใช่ว่าเกรียนแล้วจะเป็นคนดี อย่างเช่นทรงเกรียนๆ แล้วก็เอาเก้าอี้ไปฟาดหน้าคนแก่ท่ามกลางคนเดินไปเดินมา แบบไร้สำนึกแบบนี้ แล้วเราจะเข้มงวดเรื่องทรงผมกันไปใย? 

    อ้างอิงจาก

    คมชัดลึกออนไลน์ "'ศธ.'ถามราชบัณฑิตไขความหมาย'ตีนผม'" www.komchadluek.net 

    คมชัดลึกออนไลน์ "เฮ!'ศธ.'ปรับระเบียบทรงผมนร.ใหม่" www.komchadluek.net

    นวรัตน์ รามสุต และ บัลลังก์ โรหิตเสถียร "ทรงผมนักเรียน" ข่าวสำนักงานนายกรัฐมนตรี www.moe.go.th. 10 มกราคม 2556 

    ความคิดเห็น

    โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

    Sport Day หรือ Sports Day?

    เด็กปีหนึ่งใช้ "Freshman" หรือ "Freshmen" ???

    Organizing : Topic, Supporting และ Concluding Sentences