Lazy Eye(ตาขี้เกียจ) ผู้ใหญ่อาจรักษาได้
หลายๆ คนอาจจะเพิ่งได้ยินโรค "ตาขี้เกียจ" .. ไม่ได้หมายว่าแก่มาแล้วจะเป็นคุณตาแล้วจะขี้เกียจนะคร้าบบ .. มันหมายถึงดวงตาของเรานี่แหล่ะครับ ที่ผมเขียนเรื่องนี้ก็เพราะว่าเมื่อช่วงก่อนที่โรงเรียนมีบริการตรวจสุขภาพประจำปี จากนั้นพอถึงคิวตรวจสายตา ก็ได้เรื่องเลยครับ ผมเป็นโรคตาขี้เกียจครับ เท่านั้นแหล่ะ หลังจากที่สั่งแว่นแล้วก็รีบกลับมาค้นคว้าหาข้อมูลว่าไอ่โรคชื่อตลกๆ แบบนี้เนี่ยมันมีจริงด้วยเหรอ มีจำนวนคนที่เป็นโรคนี้ไม่น้อยเลย และหลายคนเลยทีเดียวที่เป็นแบบไม่รู้ตัว เพราะว่าจริงๆ แล้วมันไม่ได้น่ากลัวอะไรมากหรอกครับ ก็สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติ แต่อาจจะรำคาญเล็กๆ น้อยๆ บ้าง ทีนี้เรามารู้จักกับโรคตาขี้เกียจกันดีกว่าครับ ...
โรคตาขี้เกียจ แปลมาจากภาษาอังกฤษก็คือ Lazy Eye หรือมีชื่อทางการแพทย์ว่า Amblyopia [แอมบลิโอเฟีย] คือภาวะการมองเห็นของตาข้างหนึ่งไม่ปกติ เช่นตาข้างขวาสามารถมองเห็นวัตุได้ชัดเจน แต่ตาข้างซ้ายกลับมองเห็นวัตถุมัวๆ เบลอๆ เราสามารถทดสอบตัวเราเองได้จากเมื่อมองตัวหนังสือที่ตัวเล็กๆ พออ่านได้ แล้วปิดตาข้างใดข้างหนึ่ง หากข้างหนึ่งสามารถมองแล้วอ่านได้แต่พอปิดอีกข้างหนึ่งกลับอ่านไม่ได้เลย หรือยากที่จะอ่านเพราะตัวหนังสือเบลอๆ แบบนี้ก็ใช่แล้วล่ะครับ
โดยสาเหตุของโรคตาขี้เกียจมีอยู่ดังนี้
- ตาแหล่
- สายตาสั้น ยาว เอียง ของดวงตาทั้งสองข้างไม่เท่ากัน
- สายตาสั้น ยาว เอียง มากๆ โดยเป็นทั้งสองข้างพอๆ กัน (กรณีนี้จะเป็นตาขี้เกียจทั้งสองข้าง)
- ความผิดปกติของตาที่ทำให้ภาพหรือแสงไปกระตุ้นได้ไม่ได้เต็มที่ เช่น เป็นโรคต้อกระจก เป็นต้น
- สายตาไม่ดีตั้งแต่กำเนิด
- เกิดจากการปิดตาข้างที่ดีจนนานเกินไป
ตาขี้เกียจมักจะแก้ไขได้ตั้งแต่เด็กอายุแรกเกิดจนถึง 6 ขวบ (บ้างก็กล่าว่าจนถึง 9 ขวบเลยทีเดียว) โดยการปิดตาข้างที่ดี เพื่อกระตุ้นข้างที่ขี้เกียจ ถ้าขี้เกียจมากให้ปิดวันละ 6 ชั่วโมง ขี้เกียจน้อยก็ปิดแค่วันละ 2 ชั่วโมง .. การรักษาด้วยวิธีนี้ก็ควรจะถูกควบคุมโดยจักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มิเช่นนั้นหากปิดดวงตาไม่ถูกต้องหรือปิดนานเกินไปก็อาจจะทำดวงตาข้างที่ดีกลายเป็นตาขี้เกียจได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นหากไม่ดำเนินแก้ไขตั้งแต่แรกรายงานแพทย์กล่าวว่าจะไม่สามารถแก้ไขได้อีกตลอดชีวิต ไม่ว่าจะวิธีใดๆ ก็คือจะมีดวงตาอีกข้างที่มัวๆ ไปแบบนี้โดยตลอด
แต่อย่าเพิ่งเสียใจไปครับ ยังมีงานวิจัยที่ค้นพบว่าผู้ใหญ่ก็มีสิทธิที่จะหายจากโรคตาขี้เกียจหรือ Amblyopia หรือเรียกง่ายๆ ว่า Lazy Eye ได้
มีรายงานว่า ทีมงานนักทดลองชาว Italy นำโดย Dr. Alessandro Sale โดยการทดลองกับหนูช่วงวัยเจริญโต โดยการปิดตาข้างที่ดีของพวกมัน แล้วให้ไปอยู่ในกรงที่มีสิ่งแวดล้อมประกอบมากมาย เช่น วงล้อให้วิ่งเล่น บันไดขึ้นลง อาหารที่หลากหลาย รวมถึงของเล่นต่างๆ สำหรับพวกมัน และสิ่งทั้งหมดเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปอยู่บ่อยๆ ดังนั้นหนูเหล่านี้จะใช้เวลาหลายชั่วโมงในการสำรวจสิ่งต่าง ๆ ในกรงใหญ่ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ จึงทำให้ดวงตาขี้เกียจของพวกมันเหล่านั้นกลายเป็นดวงตาที่ปกติได้โดยให้พวกมันอยู่ในกรงอย่างน้อย 2 สัปดาห์จึงเห็นผล
และกลุ่มนักวิจัยอเมริกันและนักวิจัยชาวจีน ซึ่งนำโดย Zhong-Lin Lu นักประสาทวิทยาจาก University of Southern Californiaได้ค้นพบว่าการรักษานั้นมีประสิทธิภาพในช่วงวัย 20 ของคนปีด้วยเช่นกัน ซึ่งการรักษานั้นไม่ใช้การผ่าตัดใด ๆ แต่เป็นคอร์สที่เขาได้คิดค้น และทำการวิจัยเพื่อรักษาโรคตาขี้เกียจ เพียงใช้เวลาแค่ 10 วันต่อคอร์สเท่านั้น ในคอร์สก็จะประกอบด้วยแบบทดสอบทางการมองเห็นของสายตา ต่าง ๆ ซึ่งส่งผลให้หลายคนกลับมามีตาปกติที่เท่ากันทั้งสองข้าง และเขาเองก็ยังค้นคว้าเพื่อพัฒนากระบวนการการรักษาให้ดียิ่งขึ้นๆ อีกต่อไป
ทั้งนี้เราก็คาดหวังว่ากระบวนการรักษานี้จะเป็นที่ยอมรับและเข้ามาให้เราได้รับการรักษาในอีกต่อในอนาคต ซึ่งทางที่ดีที่สุด ณ เวลานี้ก็ควรจะไปขอคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญใกล้บ้านท่าน เพื่อที่จะป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลามไปเกินกว่าที่จะแก้ ยิ่งไปพบเร็วมากเท่าไหร่ยิ่งดีครับ การตัดแว่นนั้นอาจจะไม่ใช่ทางแก้ที่ถูกวิธีเสมอไป ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจตัดแว่นตาก็ควรไปขอคำปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะมีหลายปัจจัยที่ยังสามารถแก้ไขได้โดยที่ไม่ต้องใช้แว่นตาตั้งแต่เนิ่นๆ สิ่งสำคัญก็คือพฤติกรรมในยุคปัจจุบันหลายๆ อย่างที่ต้องระมัดระวัง คือการจ้องคอมพิวเตอร์นานจนเกินไป การนอนอ่านหนังสือที่ไม่ถูกต้อง หรือแม้แต่การดูทีวีที่ผิดวิสัยทัศน์ เหล่านี้แพทย์จะแนะนำได้ดีที่สุดครับ
อ้างอิงจาก :
- นพ.ณวัฒน์ วัฒนชัย จักษุแพทย์, โรคตาขี้เกียจ (Amblyopia), from Thailand Medical Clinic Online: http://www.thaiclinic.com/medbible/amblyopia.html
- นพ.วรวุฒิ เจริญศิริ, เคยเป็นหรือเปล่า โรค ตาขี้เกียจ, from Dek-dee.com: http://www.dek-d.com/board/view.php?id=930695
- รศ.พญ.อภัทรสา เล็กสกุล, โรคตาขี้เกียจ ตัวร้ายที่ต้องกำจัด, from Teenee.com: http://variety.teenee.com/science/13787.html
- ScienceDaily (Mar. 4, 2008), Lazy Eye Treatment Shows Promise In Adults, from www.sciencedaily.com: http://www.sciencedaily.com/releases/2008/03/080303190647.htm
- Miranda Hitti (April 30, 2007), 'Lazy Eye' May Be Reversible in Adults, from www.webmd.com: http://www.webmd.com/eye-health/news/20070430/lazy-eye-may-be-reversible-in-adults
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น