การดำหัวตามวิถีล้านนา ... ทำผิดมีค่าเท่ากับแช่ง !!!

    
       การดำหัวต่อผู้หลักผู้ใหญ่ในวิถีล้านนาที่ถูกต้อง เนื่องจากปัจจุบันเรานำวิถีของทางภาคกลางมาผสมผสานจนออกมากลืนกลินวิถีแห่งล้านนาอย่างผิดวิธีและหลักความเชื่อในแบบล้านนา
      
      ก่อนอื่นก็ต้องรู้จักคำว่า "ดำหัว" กันเสียก่อน คำว่าดำหัวนั้นไม่ได้หมายถึงให้เอาหัวไปดำในน้ำ หรือรดน้ำให้หัวเปียกชุ่มเหมือนคนดำน้ำนะครับ !!! ความจริงแล้วคำว่า "ดำหัว" หมายถึง "สระผม" หรือ "พิธีแสดงความเคารพผู้มีอาวุโสหรือผู้มีบุญคุณ ในประเพณีสงกรานต์" (อ้างจาก พจนานุกรมล้านนาไทยฉบับแม่ฟ้าหลวงหน้าที่ 444)  (ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ . ศ . 2542 หน้าที่ 405 ให้ความหมายว่า เป็นประเพณีทางภาคเหนือซึ่งกระทำในวันปีใหม่ เพื่อเป็นการแสดงความเคารพนับถือและรักใคร่ และยังอธิบายต่ออีกว่า วิธีดำหัวคือเอาสิ่งของและน้ำที่ใส่เครื่องหอมเช่นน้ำอบไทยไปให้แก่ผู้ที่ เคารพและขอให้ท่านรดน้ำใส่หัวของตนให้อยู่เย็นเป็นสุข)

       ในพิธีการดำหัวของคนล้านนาก็ต้องตระเตรียมขันสลุง(ขันเงิน) ภายในมีน้ำขมิ้นซอมป่อย(ส้มป่อย) และจะลอยด้วย ดอกไม้ ให้สวยงามก็สามารถทำได้ (ส่วนน้ำอบน้ำปรุงนั้นเป็นของคนภาคกลาง) แล้วนำไปเคารพสักการะต่อผู้อาวุโสในครอบครัว หรือผู้หลักผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ ผู้มีบุญคุณโดยเฉพาะอย่างยิ่ง บิดา มารดา พระภิกษุสงฆ์ และ ครูบาอาจารย์ เป็นต้น ซึ่งการทำพิธีรดน้ำดำหัวนั้นต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจและความศรัทธา และผู้หลักผู่ใหญ่ที่จะดำหัวนั้นก็ใช้ความอาวุโสเป็นหลัก ไม่ใช่การเกณฑ์กันไปตามแบบสมัยปัจจุบันที่ทำๆ กันให้เห็น และไปยึดเอาตำแหน่งหน้าที่การงานเป็นเกณฑ์ จะเป็นสิ่งที่น่าเกลียดมากหากผู้ที่อาวุโสกว่านำขันสลุงน้ำขมิ้นซอมป่อยไปดำหัวกับเจ้านายซึ่งอายุน้อยกว่าตนเอง (ในปัจจุบันมักมีให้เห็น เพราะทำไปเพื่อเอาหน้าเอาตาและหวังตำแหน่งหน้าที่การงานของตน จนไม่สนใจต่อขนบธรรมเนียมประเพณีที่ถูกต้อง)

      เมื่อได้ขันสลุงพร้อมกับน้ำขมิ้นซอมป่อยแล้วก็นำไปเคารพสักการะแด่ผู้ที่มีพระคุณหรือผู้อาวุโสดังที่ได้กล่าวมา ทางที่ดีก็ควรให้ผู้หลักผู้ใหญ่นั่งอยู่สูงกว่า โดยให้นั่งบนแหย่งหรือบนเก้าอี้ ส่วนผู้ที่ไปดำหัวก็ให้นั่งพับเพียบ(หรือทำท่าเทพพนม)อยู่ต่ำกว่า ซึ่งผู้ไปดำหัวให้แสดงความเคารพสักการะด้วยกาย วาจา ใจ ที่บริสุทธิ์ ยกมือไหว้แล้วกล่าวอวยพรในสิ่งที่ดีงามต่อผู้อาวุโส ขอสุมาลาโทษในสิ่งที่ได้พลาดพลั้งไป และขอพรจากผู้หลักผู้ใหญ่ ซึ่งท่านก็จะยกมือไหว้รับแล้วก็ให้พรกลับต่อลูกหลาน จากนั้นแล้วก็นำมือจุ่มลงไปในน้ำขมิ้นซอมป่อย เพื่อเป็นการแสดงการรับสุมาคาราวะความสักการะของลูกหลานและผู้ที่ไปดำหัว ต่อมาท่านก็นำมาลูบที่ศรีษะของตน ก็คือการ "ดำหัว" นั่นเอง หลังจากนั้นแล้วท่านก็จะพรมน้ำขมิ้นซอมป่อยให้กับลูกกับหลานเพื่อเป็นศิริมงคลต่อไป ดังนั้นบางครอบครัวจึงใช้ใบกุศลหรือใบโกศลเพื่อให้ผู้หลักผู้ใหญ่ได้ปะพรมน้ำขมิ้นซอมป่อยแด่ลูกแด่หลานได้อย่างทั่วถึง ไม่ใช่การนำน้ำขมิ้นซอมป่อยไป รด มือผู้หลักผู้ใหญ่ นั่นถือว่าเป้นการแช่ง  เพราะทำให้มือซีดเซียวเหมือนมือศพ!! ดังนั้นที่เห็นการรดน้ำดำหัวของคนล้านนาออกสื่อออกทีวีนั้น เป็นการผมสผสานพิธีที่มั่ว! (วีถีคนภาคอื่นกับวิถีล้านนาไม่เหมือนกัน) โดยขาดการศึกษาหาข้อมูลที่ถูกต้อง จนทำให้ขนบประเพณีนั้นเสียหาย ยิ่งเอาน้ำรดมือมากๆ มือก็ซีดขาว ไม่ต่างอะไรจากคนตาย ดังนั้นตามวิถีล้านนาจะไม่รดที่มือ และจะไม่รดที่หัวของผู้ใหญ่ แต่เป็นผู้ใหญ่ที่รับความเคารพสักการะด้วยการจุ่มแล้วรดตัวเอง ผู้ที่ไปรดน้ำดำหัวมีหน้าที่แค่ให้พรอย่างนอบน้อม และรอรับน้ำขมิ้นซอมป่อยจากผู้ใหญ่ที่จะประพรมให้กับเราเพียงอย่างเดียว

จาก facebook ของ สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

       ครูโจโจ้เองก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่าผู้อ่านจะนำวิธีการรดน้ำดำหัวต่อผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถืออย่างถูกต้องกันนะครับ และสามารถนำไปบอกลูกบอกหลานในรุ่นๆ ต่อไปได้ เพื่อให้วิถีชีวิตของคนล้านนาที่ดีงามนั้นยังคงอยู่สืบไปโดยไม่ถูกบิดเบือน สุดท้ายนี้ก็ขออำนาจแห่งคุณพระศรีรัตนตรัยตลอดทั้งเทพยาดาทั้งหลายโปรดจงปกปักรักษาทุกท่านให้แคล้วคลาดปลอดภัยในช่วงวันสงกรานต์นี้ ให้เดินทางไปกลับโดยสวัสดิภาพ และมีความสุขกับครอบครัวมากๆ ในวันสงกรานต์นี้นะครับ


  "น้ำใสใจจริง ไหลลงสู่เนื้อ
เปียะเปียกเสื้อ เพราะหลั่งจากใจ
น้ำหยดนี้ บ่แห้งเหยไหน
ขอฝากติดไปรอดเติงเถิงบ้าน"


แล้วพบกันใหม่ในบทความต่อไปนะครับ ...



อ้างอิงจาก
ปารเมศ วรรณสัย, ประเพณีล้านนา - รดน้ำดำหัว ล้านนา: http://www.openbase.in.th/node/6502

ความคิดเห็น

  1. ไม่ระบุชื่อ18 เมษายน, 2555 12:08

    ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ ครับ

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ28 เมษายน, 2555 03:39

    ข้อมูลดี มีประโยชน์มากๆ ครับ น่าจะเผยแพร่ให้ชาวล้านนาได้รับรู้โดยทั่วกัน

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆค่ะ

    ตอบลบ
  4. ประเพณีแบบล้านนายังคงหลงเหลืออยู่บ้างในหมู่ชาวบ้านและอำเภอรอบนอกโดยเฉพาะแถววัดเกตุที่ชุมชนช่วยกันอนุรักษ์ไว้ ดิฉันกลับไปบ้านที่เชียงใหม่สงกรานต์ที่แล้วที่ทนไม่ได้คือบริษัทเครื่องดึ่มเหล้าเบียร์มาตั้งเวทีเอาสาวๆแต่งตัวไม่เหมาะสมมาเต้นยั่วราคะ ไม่ทราบว่าทางการและ ทททปล่อยให้พฤติกรรมเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร คนไทยเราเองทีทำลายวัฒธรรมอันดีงามของเราเอง

    ตอบลบ
  5. ที่ท่านเขียนมาผมยังไม่เคยเห็นใครทำแบบนี้เลย เห็นแบบที่ท่านบอกว่าผิดอย่างเดียว เราทำทุกปีก็มีการเลี้ยงพระและรดน้ำที่มือแล้วขอพรพนะให้พร ผู้ใหญ่ให้พร จบแล้วเด็กๆก็สนุกกันเลิกเล่นน้ำแล้วก็กินข้่าวปลาอาหารแล้วจัดงานเลี้ยงสนุกสนาน มีการแสดงของหลานๆมีการมอบทุนการศึกษา. และเช้าก็ไปวัดใส่บาตร เราทำแบบสมัยใหม่ที่ท่านบอกว่าผิดนั่นแหละ แต่เราก็พอใจครอบครัวมีความสุขดีครับ

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. คุณยายของเราทำแบบนี้เลยค่ะ อยู่ที่เชียงใหม่ ไม่เคยรดที่มือเลย เค้ามีความเชื่อแบบนี้อย่างเคร่งครัด แต่ก็เห็นแบบนี้น้อยมากๆ ในปัจจุบัน จริงๆ ก็คงไม่จำเป็นที่จะต้องทำตาม หากทำแล้วมีความสุข ทั้งแบบที่ถูกและผิดนั่นล่ะค่ะ

      ลบ
    2. ประเพณีแบบเก่าก็ควรอนุรักษ์ไว้ แต่ก็ไม่ควรบอกว่าทำแบบอื่นเป็นเรื่องผิดมันแล้วแต่ยุคสมัย ถ้าบอกว่าการรดน้ำที่มือคือการแช่ง ถ้าอย่างนั้นพิธีแต่งงาน รดน้ำสังข์ มันก็เท่ากับแช่งเหมือนกัน ที่จริงแล้วเราควรดูที่เจตนาของคนมากกว่า เรารดน้ำด้วยใจเคารพ ผู้ให้รดมีความยินดีที่ลูกหลานรักและเคารพ มันไม่สำคัญหรอกว่าจะรดที่มือ เท้า หรือดำหัว ที่สำคัญ คือความรักความอบอุ่นของครบครัวมากกว่า

      ลบ
    3. เป็นเหตุผลที่ดีครับ

      ลบ
  6. สืบสานประเพณี. ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  7. แบบนี้ทำไมที งานแต่ง ไม่ถือว่าเป็นการแช่งคู่บ่าวสาวบ้างหละ
    แล้วถ้าทำแบบนี้สงสัยท่านผู้ใหญ่หัวคงเปียกจนดูไม่งาม กว่าจะดำหัวลูกหลานครบทุกคน

    ตอบลบ
  8. ผู้โพสต์ท่านคงต้องการให้ทราบแก่นแท้ ที่มาของการรดน้ำดำหัว วัฒนธรรมพื้นถิ่นทางล้านนา ซึ่งปัจจุบันเรายังคงดำรงประเพณีดีงามที่สืบทอดกันมาครับ

    ตอบลบ
  9. อย่ายึดติด จงหมุนไปตามโลก

    ตอบลบ
  10. สิ่งดีๆที่ไม่ควรมองข้ามประเพณีอันดีงาม ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  11. สิ่วดีๆที่ไม่ควรมองข้ามประเพณีอันดีงาม ขอบคุณครับ

    ตอบลบ
  12. ดีครับใครยึดมั่นก็ทำไป ใครไม่รู้ประเพณีก็ทำตามที่ตัวสะดวก อยู่ที่ใจครับ

    ตอบลบ
  13. ผู้ที่เป็นลูกหลานเมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็ควรช่วยกันทะนุบำรุงรักษาเอาไว้ให้ดีๆนะครับ เพราะนั้นคือรากเหง้าทางวัฒนธรรมของท่าน ในอนาคตเมื่อท่านไปไหนมาไหนพูดหรือคบค้ากับใคร ท่านจะได้ภาคภูมิใจว่าท่านเองก็เป็นผู้ที่มาจากอารยชนเผ่าที่มีวัฒนธรรมเป็นของตนเองมาตั้งแต่รุ่นคุณปู่คุณตากันแล้ว

    ตอบลบ
  14. งานศพ กับ งานแต่ง ตรรกะแบบใหนเอาให้แน่

    ตอบลบ
  15. จริงๆแล้วเราคิดว่าอยู่ที่เจตนาและประเพณีของแต่ละชุมชนมากว่า ไม่ถือว่าผิด ที่ชุมชนของเราก็รดที่มือผู้เฒ่าผู้แก่ เช่นกัน แล้วท่านก็จะผูกข้อมืออวยพรลูกหลานให้มีความสุข เห็นมาตั้งแต่เด็กแล้ว(เป็นความคิดส่วนบุคคลนะคะ)

    ตอบลบ
  16. ผมว่ามันอาจจะเป็นความเชื่อของคนล้านนาครับ แต่ละพื้นที่ก็จะมีวัฒนธรรมต่างกันเนอะ คนโพสอาจจะแค่บอกกล่าวเผื่อให้คนในพื้นที่สืบทอดวัฒนธรรมในทางที่ถูกสืบต่อไป ผมว่าเราอ่านไว่เป็นความรู้ไว้ก็ดีนะครับ รู้ไว้ใช่ว่า...ใส่บ่าแบกหาม

    ตอบลบ
  17. ขอบคุณ ค่ะ
    และ ขออนุญาต แชร์ฯ นะคะ :)

    ตอบลบ
  18. ขอบคุณสำหรับข้อมูลดี ๆ ครับ
    ผมคิดว่า รูปแบบประเพณี เปลี่ยนตามยุคสมัยไปแล้วนะครับ เนาะ

    ตอบลบ
  19. ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆ ค่ะ มีประโยชน์มากเลยค่ะ

    ตอบลบ
  20. ความรู้ดีๆ เยี่ยมมากช่วยกันสืบสานประเพณีการดำหัวแบบถูกต้อง.

    ตอบลบ
  21. ทำไมล่ะ มาบัญญัติว่ารดมือมีสองอย่างคือรดวันแต่งกับวันตายได้งัยครับ. งั้นรดมือวันแต่งก็เท่ากับแช่งสิ
    ..สองมือนะที่ทำงานเลี้ยงคนมา รดได้มาบัญญัติอย่างนั้นใครบัญญัติ รู้ไหมบางทีรดน้ำดำหัวทำให้หัวเปียกไม่สบายใด้ บางทีคนมากก็ต้วงรดมือรดหัวทุกคนไม่สบายแน่ อย่ามาบัญญัติมั่วๆ

    ตอบลบ
  22. ตกม้าตายก็ตรงไปใช้คำพูดเกินไปว่า "ทำผิดมีค่าเท่ากับแช่ง"

    ถ้าดูจากภาพประกอบ(ของส่งเสริมศิลปะวัฒนธรรม ม.เชียงใหม่)...ภาคอื่นๆเขาก็รดมือตามประเพณีท้องถิ่นนั้นๆได้อยู่แล้ว

    "รดน้ำขอพร"ผู้ใหญ่มาเป็นสิบสิบปีแล้ว น้ำรดมือก็เป็นการแสดงความกตัญญูต่อผู้สูงอายุและรับพรด้วย
    ยังไงก็ไม่เท่ากับแช่งหรอกครับ

    ตอบลบ
  23. พวกที่ทำหนังละคร สื่อต่างๆ นั่นแหละตัวดีเชียว มีเรื่องนึงทำออกมาผิด เรื่องต่อๆมาก็หลับหูหลับตาทำผิดตามๆ กันไป จนคนเห็นชินกลับผิดเป็นถูกไปหมด ไม่ใช่แต่ภาคกลางหรอกที่จำไปผิด วันก่อนข่าวภาคอีสานก็ดำหัวด้วยการตั้งเก้าอี้ให้ผู้ใหญ่แล้วให้เด็กกว่าเดินเอาน้ำรดมือผู้ใหญ่งานระดับจังหวัดเลยทีเดียว ต้องโทษคนจัดงานที่เก็บเอาความเคยชินแต่ไม่รู้จริงไปทำ แล้วที่ผิดๆ มันก็ขยายวงออกไปเพราะออกสือ
    นี่เอง คือถ้ามีการเผยแพร่การดำหัวที่ถูกต้องให้คนได้เห็นเป็นการแก้ไขความเข้าใจที่ผิดพลาดไปแล้วมันคงจะดีกว่าปล่อยเลยตามเลยไปนะ

    ตอบลบ
  24. ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก

    ตอบลบ
  25. ความคิดเห็นนี้ถูกลบโดยผู้ดูแลระบบของบล็อก

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Sport Day หรือ Sports Day?

เด็กปีหนึ่งใช้ "Freshman" หรือ "Freshmen" ???

Organizing : Topic, Supporting และ Concluding Sentences